รู้ไหมว่า ? ศีลไม่ใช่ข้อห้าม และพระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติ ศีล 5 ว่าเป็น"กฎ"!! (Sila1/11)
- igqsan
- Apr 13, 2022
- 5 min read
Updated: Oct 12, 2022
ออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวผมนั้นเป็นคนที่ไม่นับถือทุกศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะสำหรับผมแล้วศาสนาเป็นเพียง "สิ่งสมมติ" เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่คนเราสร้างขึ้นเพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และ ควบคุมพฤติกรรมคนเราให้ง่ายขึ้นต่อการดูแลและปกครองเท่านั้น เช่นเดียวกับ กฎหมาย และ การศึกษา
ดังนั้นสิ่งที่ผมศรัทธาจึงเหลือเพียง "คำสอนของพระพุทธเจ้า" ที่สอนว่า
"ทุกสิ่งทุกอย่างย่อม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง และ ควบคุมไม่ได้" และ "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ควรยึด"
ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ไม่จำกัดกาล และผมพิสูจน์ด้วยตัวเองจนเห็นแล้วว่า "มันช่วยให้พ้นทุกข์" ได้จริง เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะน่ากลัวกว่า "การเกิด" อีกแล้ว เพราะมีการเกิดจึงมีทุกข์ และ "ศีล" เป็นหนึ่งในพื้นฐานของกระบวนการที่จะทำให้ละการเกิดได้ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเห็น เข้าใจ รู้แจ้ง ทำ และ ทำให้ได้
ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อให้คนได้เข้าใจใน "ศีลตามความเป็นจริง" ที่ไม่ใช่สิ่งที่สั่งสอนตามกันมา เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่เขียนทั้งหมดนั้นมาจากความรู้ที่อาจารย์ และ พระอาจารย์ของผมทุกท่านที่เมตตาสั่งสอนผม บวกกับ ประสบการณ์จากการปฏิบัติของผมเอง ซึ่งผมขอให้ทุกท่าน อ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ แต่ขอให้นำไป คิด พิจารณา และ พิสูจน์ด้วยตัวเองครับ
สำหรับท่านใดที่มีเวลาน้อย ไม่มีเวลาอ่าน ผมแนะนำให้ท่านอ่านฉบับ บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) //อยู่ระหว่างจัดทำ ซึ่งผมได้สรุปให้อยู่ภายใน 1 A4 รวมทั้งใส่ฉบับภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นลงไปด้วย แต่ถ้าท่านอยากเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดโดยไม่ตัดทอน ก็ขอให้อ่านฉบับเต็ม ในส่วนของฉบับเต็มหากเวลาอำนวย ผมจะทยอยทำฉบับ ภาษาอังกฤษ และ ญี่ปุ่นต่อไปครับ
และหากผู้ที่ได้อ่านบทความนี้แล้วมีกุศล (ความฉลาด) อันใดเกิดขึ้นขอกุศลนั้นจงบังเกิดแก่ บิดามารดาในทุกชาติ ครูบาอาจารย์ในทุกชาติ ซึ่งได้ให้กำเนิด และ ประสิทธ์ประสาท ความรู้ จนเกิดเป็นปัญญาติดตัวผมจนสามารถแจ้งในธรรมได้ แต่ถ้าหากเกิดอกุศลอันใด ผมขอรับอกุศลนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว ในฐานะที่ยังไม่มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดีเพียงพอ
ปุจฉา (ถาม): ศีล คืออะไร?
วิสัชนา (ตอบ) : ศีล คือ เครื่องพิจารณาการกระทำของเราว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดบ่วงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นหรือไม่
หลายต่อหลายคน ชอบตีความหมาย หรืออธิบาย ศีล ว่าคือ "ข้อห้าม" เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ บุคคลผู้นั้น รับรู้ศีลมาจาก การเรียน การสอน การอ่าน การฟัง การเล่าต่อกันมา....โดยไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เจริญ "สติปัฏฐาน 4" ด้วยตัวเอง จึงไม่มีความเข้าใจในเรื่องศีลที่แท้จริง ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ให้แจ้งด้วยตัวเองจนเกิดเป็นปัญญาฝังในใจได้ ความรู้แจ้งในเรื่องศีล จึงอยู่เพียง ชั้น "สัญญา" คือ จำได้ หมายรู้ เท่านั้น
เพื่อประกอบความเข้าใจ ผมขอยกตัวอย่างประโยคสักประโยคหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหนังสือ "คู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4" ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งสอนโดยพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของผม "หลวงปู่ทอง สิริมังคโล" ซึ่งเขียนไว้ดังนี้

"จิตที่คอยระมัดระวังในการพอง การยุบ เป็นตัวศีล
จิตที่แนบแน่นอยู่กับการพอง การยุบ เป็นตัวสมาธิ
ตัวที่เข้าไปรู้ว่าพอง ว่ายุบ เป็นตัวปัญญา"
จะสังเกตได้ว่า ไม่มีตรงไหนที่บอกว่า "ห้าม" เลยแม้แต่นิด มีแต่การมี "เครื่องพิจารณา" ว่าการกระทำของเรานั้น ยังเป็นไปด้วยความมี "สติ" หรือเปล่า นั่นคือ "ศีลในการปฏิบัติ" คือ มีสติ รับรู้ว่า ท้องพอง หรือ ยุบ ถ้ากำหนดลมหายใจก็ เข้าหรือออก หายใจยาวหรือสั้น เร็ว หรือ ช้า หรือ ถ้าใครจะ "ดูจิต" ก็ดูว่า "ใจ"หรือ "จิตผู้รู้" ขณะนี้ สถานะเป็นยังไง สถานะนั้น ยังตั้งอยู่ไหม แและ ดับไปเมื่อไร หากเป็นศีลในชีวิตประจำวันอย่าง "สิ่งสมมติที่เรียกว่า ศีล 5" ก็คือ ขณะนี้ เรายังมีสติในการระมัดระวังที่จะไม่สร้างบ่วงอยู่หรือเปล่า เป็นต้น
ซึ่งถ้าเกิดเปิดพจนานุกรมบาลี ศีล ก็จะแปลว่า ปกติ หรือ เครื่องยึดเหนี่ยว แต่....ผมไม่อยากให้ยึด สิ่งที่เป็น "สัญญา" สักเท่าไร เพราะในสัญญา มันมีความผิดพลาดในตัวมันอย่างน้อย 2 อย่างเสมอ อย่างแรก คือ ความผิดพลาดในการบอกต่อกันมา อย่างที่สอง คือ ความผิดพลาดในการแปลและตีความ และที่สำคัญที่สุด "สัญญา" นั้นไม่เที่ยง
ปุจฉา (ถาม): แล้ว "บ่วง" คืออะไร?
วิสัชนา (ตอบ): "บ่วง" จัดเป็นคำที่ตัวผมนิยามขึ้นมาใช้เอง โดยจุดประสงค์เพื่อแยกออกจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกัน น่าจะคล้ายกับคำว่า "ภพ" ของพระองค์ท่าน แต่ที่ผมจงใจแยกออกมา เพราะผมยังไม่แจ้งใน "ปฎิจสมุปบาท" ยังไม่ใช่พระอรหันต์ จึงไม่มั่นใจว่า ว่า สิ่งที่ผมอธิบายหรือนิยาม จะใช่ความหมายของ "ภพ" ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ เมื่อไม่มั่นใจ การนิยามคำใหม่ โดยใส่คำนิยามในสัญญา และแจงจุดประสงค์ให้ชัดเจน จึงเป็นวิธีการที่บังควรที่สุด
บ่วง คือ สภาวะที่ "ใจ" ส่ง "จิต" ออกไป "พันผูก" กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่ง อาจจะ "ส่งจิตออกใน" หรือ "เห็นใน" (การเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ภายในตัวเราเอง ที่ไม่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอก เช่นจากจินตนาการ จากภาพนิมิต เป็นต้น) หรือ"ส่งจิตออกนอก" หรือ "เห็นนอก" (การเกิดความรู้สึกต่าง ๆ จากสิ่งเร้าภายนอก) ก็ได้
ยังงง ๆ อยู่หรือเปล่าครับ?งั้นผมขออธิบายเพิ่มเติม พื้นฐานของธรรม คือ "ใจ" หรือ "จิตผู้รู้" ครับ โดยที่ทุกการกระทำของใจนั้น เราเรียกว่า "จิต" หรือ "การส่งจิต" และทุกการกระทำของใจ หรือ การเคลื่อนของจิต จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "บ่วง" ตามมาเสมอ หรือพูดง่าย ๆ ว่า "บ่วง เป็นผลจากการเคลื่อนของจิต"
.
สถานะของใจ จะแปรตามการส่งจิตออกไปรับรู้ เปรียบใจให้เหมือนแก้วเปล่า เราจะเทน้ำอะไรลงไปก็จะเป็นแบบนั้น เพราะใจเป็นผู้รู้ เป็นผู้รับ ส่วนที่เคลื่อนไปคือ จิต ดังนั้น สถานะของ "จิตใจ" จึงแบ่งได้ 3 สถานะใหญ่ ๆ วนเวียนกันไปคือ + 0 - หรือที่เรียกว่า ชอบ เฉย ๆ ไม่ชอบ
.
การเคลื่อนของจิตนั้นเป็นไปตามสิ่งเร้า ทั้งจากภายใน ภายนอก ทั้งบวกทั้งลบ ไม่ว่าจะเป็นกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ นิวรณ์ทั้ง 5 ( เป็นซับเซตของ อกุศล) หรือแม้แต่ความเมตตา กรุณา มุทิตา ความกตัญญู (เป็นซับเซตของกุศล) ทุกอย่าง ล้วนเป็นบ่วงทั้งสิ้น
.
ยกตัวอย่างเช่น เราหิวข้าว แล้ว จิตปรุงแต่งต่อว่า อยากกินสเต๊ก จิตที่ปรุงแต่งนี้ เรียกว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้ว จากการส่งจิตออกใน ( บ่วงในที่นี้ เป็น อกุศล คือ โลภะ) ส่วนร่างกายหิวข้าว เป็นสภาวะธรรมชาติ...หรืออีกสักตัวอย่าง ถ้าเราเกิดชอบเพศตรงข้าม อันนี้ก็เช่นกันคือ บ่วงเกิดขึ้นแล้ว จากการส่งจิตออกนอก (จัดเป็น อกุศล คือ โลภะ จากความชอบ เช่นกัน)
หลักใหญ่ใจความของธรรมะพระพุทธเจ้าเพื่อการพ้นทุกข์ คือ ละเว้นซึ่งการ "เกิด" ของบ่วงทุกบ่วง ดังนั้นการกระทำใดก็ตามที่ทำให้เกิดบ่วงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
ปุจฉา (ถาม): ทำไมการกระทำใดก็ตามที่ทำให้เกิดบ่วงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ?
วิสัชนา (ตอบ): เพื่อ "ปลดแอก" ตัวเองออกจากความเป็นทาสซึ่งปิดบังสัตว์โลกอยู่ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ความอิสระ" หรือ "ความพ้นทุกข์" ที่แท้จริง เพราะตราบใดที่ยังมีบ่วงอยู่ ตราบนั้น เรายังคงต้องวนเวียนในสังสารวัฎ
แม้บ่วงที่เป็นกุศล จะนำใจไปจุติในสุคติภูมิก็ตาม แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสรรเสริญการไปเกิดในสุคติภูมิว่าเป็นเรื่องดี เพราะแม้แต่การเกิดในชั้นพรหม ก็ยังมีทุกข์ในฐานะพรหม
สิ่งที่ท่านสอน คือ ไม่เกิดในทุกภพภูมิ ดังนั้น พระพุทธเจ้า จึงไม่ได้สอนให้คนทำดีเพื่อไปสวรรค์ อย่าทำความชั่วเพื่อหนีนรก
เพราะพระองค์ท่านไม่ได้สรรเสริญทั้ง 2 ทาง
ปุจฉา (ถาม): ทำไมสัตวโลกจึงไม่รู้จัก "ความอิสระที่แท้จริง"?
วิสัชนา (ตอบ): สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "สัตว์" ทุุกชนิด ย่อมแสวงหาความ "อิสระ"เสมอ ทั้งตามหลักจิตวิทยา และ หลักธรรมของพระพุทธเจ้า "สัตว์โลกเมื่อรู้ว่าตัวเองถูกกุมขัง ไม่อิสระ จะพยายามดิ้นรนหาทางให้ตัวเองเป็นอิสระทันที โดยสัญชาตญาณเสมอ" ( ขอให้พิสูจน์ธรรมข้อนี้ด้วยตัวท่านเอง)
กระนั้น.....สัตว์โลกจะหยุดการดิ้นรนทันที ถ้า
1.กรงที่ขังนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น จนลืมไปว่าถูกขัง
อุปมาเหมือนถ้าเราถูกขังอยู่ในห้องเล็ก ๆ เราก็รู้สึกว่าเราถูกขัง แต่ถ้าเราเปลี่ยนกรงขังให้ใหญ่ขึ้น เป็นโลกใบนี้ เราก็รู้สึกว่าเราอิสระขึ้น แต่ก็ยังคงถูกขังในโลกอยู่ดี และโลกก็ยังคงถูกขังอยู่ในจักรวาล แต่เพราะความอิสระที่ได้มาเพียงน้อยนิดนั้น กลับปิดบังความจริงที่เรายังถูกขังอยู่ไป
2.ในกรงขังนั้น มีอาหารชั้นเลิศ ที่เรียกว่า "ความสุข" อยู่ จนพอใจกับการถูกขัง
"ความสุข" หรือ สภาวะ "ทุกข์น้อย" ล้วนเป็นสิ่งที่สัตว์โลกทุกชนิดแสวงหา เรียกได้ว่า "ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาสิ่งนี้ทั้งชีวิต" โดยที่ไม่เคยรู้จักตัวตนที่แท้จริงของสิ่งที่โลกนี้บัญญัติว่า "ความสุข" และความทุกข์" เลยแม้แต่นิด
ความสุข คือ สภาวะที่ "ใจ"เรา "พอใจ หรือ ชอบใจ" ต่อทั้งสิ่งเร้า ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกขณะนั้น ในขณะที่"ความทุกข์" คือ ตรงกันข้าม และ เรา"ไม่พอใจ"ในความทุกข์ จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อหนีจากมัน เพราะเราไม่ชอบ
แต่....อะไรเป็นตัวทำให้เรา "ชอบ" "ไม่ชอบ"? ปัจจัยสิ่งเร้าภายนอกหรือ? เราไม่ชอบสิ่งนั้นแสดงว่า สิ่งนั้นทำให้เราไม่ชอบใช่หรือไม่? เมื่อลองตั้งสติพิจารณาแล้วจะพบว่า "ใจ" เรานั่นแหละ ที่ถูก "โลภะ" เข้าครอบงำ ให้รู้สึกว่า "ชอบ" ถูก "โทสะ" เข้าครอบงำให้รู้สึกว่า "ไม่ชอบ"
เมื่อสัตว์โลกพยายามอย่างเต็มที่ในการแสวงหา "ความสุข" ที่เกิดขึ้นจาก "โลภะ" แล้วก็จะหมดความรู้สึก "ไม่ชอบ" จากโทสะเป็นการชั่วคราว แล้วก็จะพอใจในความสุขนั้นเป็นการชั่วคราว ก่อนที่ความสุขนั้นจะดับไปแล้ว แล้ว แสวงหาความสุขใหม่ และจะทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ จน "หลง" คิดว่า นั่นคือ ความสุขและความหมายของการมีชีวิตที่แท้จริง
โดยไม่เคยเห็นถึงความทุกข์ที่แท้จริงว่า "ทำไมถึงยังต้องเกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนไปแบบนี้?" เพราะตัวเองนั้น ตกเป็นเหยื่อ ตกเป็นทาสของโลภะ เหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงของโลภะ ที่หยิบยื่นอาหารที่เรียกว่า "ความสุข" ให้เรากิน แล้วเราก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของโลภะไปเรื่อย ๆ
3.เพราะกรงขังนั้นมองไม่เห็น จึง "ไม่รู้" ว่าตัวเองถูกขัง
โดยธรรมชาติของสัตว์โลกทุกชนิด เมื่อมองไม่เห็นก็จะไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่มักจะลืมตั้งคำถามว่า "ที่มองไม่เห็นนั้น เพราะตัวเองไม่เห็นเอง หรือ เพราะว่ามันไม่มีอยู่จริง ๆ และด้วยความที่ สัตว์โลกชอบเข้าข้างตัวเอง ก็มักจะทึกทักว่า มันไม่มีจริง ๆ " กิเลส ( โมหะ โทสะ ราคะ โลภะ) นิวรณ์ทั้ง 5 (ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย) ก็เช่นกัน
สิ่งที่ปิดบัง กิเลส และ นิวรณ์ไม่ให้สัตว์โลกเห็น พระพุทธเจ้าเรียกมันว่า "สันตติ" หรือ "ความสืบต่อเนื่อง" กล่าวคือ เรามักไม่เห็น การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ของทั้งกิเลส และ นิวรณ์ เนื่องมาจากว่า มันเกิดไวมาก ๆ จนเราเข้าใจว่า เป็นความต่อเนื่องกัน จน "หลง"คิดว่า "สิ่งนั้นเที่ยง" จนกลายเป็นปิดบังความจริงว่า "ทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง" (หลักการเดียวกับการทำ Animation ที่ใช้ภาพย่อย ๆ เพิ่มความเร็วจนเราเห็นมันเป็นความต่อเนื่องกัน แต่จริง ๆ มันคือ การ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของภาพจำนวนมาก)
และเมื่อเราคิดว่า "สิ่งนั้นเที่ยง" เราก็จะยึดมันว่า "เป็นตัวตนของเรา เป็นคุณค่าของเรา" หรือ ภาษาอังกฤษ Self Actualization หรือ เรียกไทยง่าย ๆ ว่า "อัตตา" หรือ ความมีตัวมีตนของเรา
เมื่อเรามีตัวตนมีตนของเรา เราก็อยากให้คนอื่นยอมรับในสิ่งที่เราเป็น นั่นคือ Self Esteem และเมื่อยอมรับแล้ว เราก็ยังอยากให้เป็นที่ต้องการคนอื่นด้วยนั่นคือ Self Belonging

สิ่งเหล่านี้ในทฤษฎี Maslow's hierarchy of needs ของ Abraham Maslow นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน บอกว่าเราต้อง "เติมเต็ม " หรือ Fullfill แต่สำหรับพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านบอกให้ "ละ" หรือ Forsake
เหตุที่พระองค์บอกให้ละ เพราะ กิเลสสัตว์โลกนั้น ไม่มีวันสิ้นสุด เติมเต็มยังไงก็ไม่มีวันเต็ม หากสัตว์โลกนั้น ไม่เกิดความรู้สึก"พอ"ด้วยตัวเอง
.
เหตุนี้ คำว่า "พอ" จึงเป็นหนึ่งในมาตรวัดความเจริญ หรือ การเติบโตและพัฒนาของ "จิตใจ" ว่าเติบโตมากน้อยแค่ไหน (ยิ่งระดับการพอต่ำเท่าไร คือ ละได้มากเท่านั้น) เนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งที่ "สัตว์โลกทำได้ยาก" เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ซึ่งถ้าไม่ฝืนธรรมชาติ ก็จะออกจากการวนเวียนไม่ได้ (ธรรมชาติของสัตว์ ย่อม ถูกเร้าด้วย กิเลส นิวรณ์ตลอดเวลา) แต่ก่อนที่จะฝืนธรรมชาติ เราก็ต้องเห็นแจ้งในธรรมชาติของมัน ยอมรับในธรรมชาติของมันก่อน เหมือน จะตีตัวตุ่น แต่ไม่เห็นตัวตุ่นก็ตีไม่ได้
และวิธีการที่จะเห็นแจ้งได้นั้นคือ "การเจริญวิปัสสนา" ด้วย "สติปัฏฐาน 4" หรือคือ การทำให้เราเห็น "กรงขังที่เรามองไม่เห็น" นั่นเอง จึงเรียกว่า "เห็นแจ้ง"
ปุจฉา (ถาม): แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยการไม่สร้างบ่วงได้ แล้วต้องทำอย่างไร?
วิสัชนา (ตอบ): ใช่แล้วครับ ในความเป็นจริงตราบใดที่เรายังคงต้องอยู่บนโลก ติดต่อกับผู้คน เราไม่สามารถไม่สร้างบ่วงได้เลย ด้วยเหตุนี้
เมื่อจำเป็นจริง ๆ เราจึงควรสร้างบ่วงที่เป็นบวก หรือ "บ่วงกุศล" เพราะ "บ่วงกุศลนั้น อายุสั้น อัตราการเกิดซ้ำน้อยกว่า" ต่างจาก "บ่วงอกุศลที่ อายุยาว อัตราการเกิดซ้ำสูงกว่า"
เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการปฎิบัติจนมีสติรับรู้ การเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของ กิเลส และ นิวรณ์ครับ เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ทุกคน ดังนั้นผมจะท้าให้ทุกคนพิสูจน์ด้วยตัวเอง
หรือ ถ้าให้ผมเล่ายกตัวอย่างง่าย ๆ เคยโกรธใครไหมครับ ลองนับนะครับว่า เวลาเราโกรธใคร ความรู้สึกโกรธนั้น ตั้งอยู่นานแค่ไหน จึงดับไปรอบหนึ่ง แล้วมันเกิดซ้ำอีกทีเมื่อไร? เกิดกี่ครั้ง กว่าความถี่จะห่างลง แล้วมันดับสนิทจริง ๆ เมื่อไร? เทียบกับเวลาที่ใครทำอะไรดี ๆ ให้เรา ความรู้สึกยินดีนั้นอยู่นานเท่าไร? เกิดซ้ำอีกเมื่อไร? และเปลี่ยนเป็นเฉย ๆ เมื่อทำแบบเดิมซ้ำอีก ก็ไม่รู้สึกยินดีอีก เมื่อไร?
ด้วยเหตุผลนี้ครับ จึงสรุปได้ว่า "บ่วงกุศลนั้น อายุสั้น อัตราการเกิดซ้ำน้อยกว่า" และ "บ่วงอกุศลนั้น อายุยืน อัตราการเกิดซ้ำสูงกว่า"
เขาก็เลยพูดกันง่าย ๆ ว่า "ทำดี ละเว้นชั่ว" แถมด้วยทำจิตใจให้บริสุทธิ์ คือ "รับรู้ ปล่อยวาง แล้วเฉย ๆ" นี่คือ เหตุผลที่แท้จริงครับ ไม่เกี่ยวกับไป นรก สวรรค์ เลยสักนิด ต่อให้ นรก สวรรค์มีอยู่จริง ก็ไม่ใช่ที่สมควรไป ไม่ใช่เรื่องควรสนใจ การอยากไป ไม่อยากไป นั่นคือ โลภะ และ โทสะ นั่นเป็นสิ่งควรละครับ
ปุจฉา (ถาม): แล้วแบบนี้จะรู้ได้ยังไงว่า การกระทำของเรานั้น ผิดศีลหรือเปล่า?
วิสัชนา (ตอบ): เป็นคำถามยอดฮิต ที่มักถามกัน ว่าทำแบบนี้ แล้วผิดศีลไหม?ก่อนอื่น เรามาลองดูกันก่อนไหมครับว่า ปัจจุบันนี้ เราพยายามตัดสินว่า สิ่งไหนผิดศีล ไม่ผิดศีลด้วยวิธีไหน?
เวลาเกิดคำถามว่า ทำแบบนี้ผิดไหม คนทั่วไปโดยส่วนมากที่กระทำกัน คือ ไปหาคำนิยามของ "สิ่งที่เรียกว่าผิด" นั้นว่า กำหนดคำนิยามไว้ว่ายังไง กระทำแบบไหนเรียกว่า ผิดแล้วมาเทียบกับการกระทำของตนว่าใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด หรือ เรียกกันว่า "ตีความตามสัญญา" คือ ตีความจากสิ่งที่จำได้ หมายรู้ หรือเรียนรู้มา
เช่น คนเราพอทำผิดก็จะไปเปิดหนังสือ หรือ พระไตรปิฎก อ้างอิงว่า การกระทำผิดนั้นต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วก็จะพยายามหาเหตุผลมา defend ว่ามีนี่ไม่มีนี่ โดยส่วนใหญ่เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เช่นเดียวกับ การตัดสินคดีความตามกฎหมาย
แต่....หาไม่รู้เลยว่า ที่ทำทุกอย่างนั้นเป็นความเห็นผิด เห็นผิดทุกอย่างตั้งแต่การกระทำแรก เพราะ
1. คำนิยามเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติ ถ้าคุณวิ่งตามสิ่งสมมติ จะยังไงก็หาความจริงไม่เจอ
กฎจะมีกี่ข้อก็ตาม แต่สิ่งที่คุณต้องหาให้เจอจริง ๆ คือ "ความตั้งใจของกฎ" ไม่ใช่ สิ่งที่เขียนในกฎ
2 ธรรมชาติของสัตว์ จะชอบให้ตัวเองถูกเสมอ
ดังนั้น การกระทำทุกอย่างที่มี "การตีความ" กับ "สัญญา" หรือ คือ ภาษาที่ใช้ถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ หรือ คำพูด การกระทำเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าข้างตัวเอง หรือ มีความผิดพลาดในการตีความเกิดขึ้นเสมอ
กลับไปที่ปุจฉาใหม่ แล้วรู้ได้ยังไงว่าผิด ไม่ผิด?
ผิด ถูก ดี ชั่ว บุญ บาป ล้วนเป็นเพียง "อัตตา" ล้วนไม่เที่ยง เพราะสิ่งที่ดีกับคนหนึ่ง อาจไม่ดีกับอีกคนก็ได้ เช่น โรบิ้นฮูด ปล้นคนรวย ช่วยคนจน สำหรับ คนจน โรบิ้นฮูด คือ คนดี แต่ สำหรับ คนรวย โรบิ้นฮูด คือ คนชั่ว เมื่อไม่เที่ยงจึงไม่ควรยึด เป็นต้น
ดังนั้นผมจึงแนะนำให้พิจารณาบ่วงที่เกิดตามความเป็นจริงแทน และลืมคำว่า "ผิด ถูก ดี ชั่ว บุญ บาป" ไปเสียให้สิ้น เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อันใดแล้ว ยังเป็นเครื่องทำให้อัตตาเราสูงขึ้น เวลาคนชมเราว่าเป็นคนดี เป็นเครื่องทำให้จิตเราเศร้าหมอง เวลาที่เราถูกตำหนิ หรือ เวลาที่เห็นคนอื่นทำในสิ่งที่เราคิดว่า มันไม่ดี แล้วเราไม่ชอบ
เนื้อหาต่อไปหลังจากนี้ จะเป็นการอธิบาย บ่วงที่เกิดใน "สิ่งสมมติที่เรียกว่าศีลทั้ง 5 ข้อ" แต่ท่านจะเลือกกระทำกรรมแบบไหนนั้น สุดแล้วแต่ความตั้งใจของท่าน ผมไม่สามารถบังคับท่านได้ รวมถึงไม่ตำหนิ เพราะ
"ศีลไม่ได้มีไว้ใช้ตำหนิผู้อื่น แต่มีไว้ตำหนิติเตียนตัวเองเท่านั้น"
เหตุที่ไม่ได้มีไว้ตำหนิผู้อื่นเพราะ การตำหนิผู้อื่นนั้นเป็นการ "ส่งจิตออกนอก" จนทำให้เราเกิดความไม่ชอบในใจ อันเกิดจากโทสะ ถือเป็นการสร้างบ่วงทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น ดังนั้นศีลจึงมีไว้แค่ติเตียนตัวเอง ให้ตัวเองละอายใจเท่านั้น อันเป็นการสร้างบ่วงกับตัวเองเท่านั้นซึ่งเป็นการสร้างบ่วงที่น้อยที่สุดและพอควบคุมได้
แต่ถ้าหากท่านมีความตั้งใจที่จะรักษาศีล หรือ ความตั้งใจที่จะไม่ทำให้ชีวิตเกิดบ่วงแล้ว ท่านก็จะได้ประโยชน์จากการรักษาศีลครับ
ปุจฉา (ถาม): ประโยชน์จากการรักษาศีล มีอะไรบ้าง?
วิสัชนา (ตอบ):
ประโยชน์ของการรักษาศีลในปัจจุบันกาล คือ การลดการสร้างบ่วงกับบุคคลอื่น และ กับทั้งตัวท่านเอง อันเป็นการลดการที่คนอื่นจะมาจองเวรกับท่าน ทำอันตรายกับท่านในกาลปัจจุบัน ดังคำที่ว่า "หากท่านรักษาศีล ศีลจะรักษาท่าน"
ประโยชน์ของการรักษาศีลในอนาคตกาล คือ การสร้าง "นิสัย" (สิ่งที่ทำประจำจนฝังรากลึก) ของการเป็นผู้ที่ไม่มีบ่วง ให้ฝังลงไปในอารมณ์ อันเป็น หนึ่งในสองสิ่งที่ใจสามารถนำข้ามไปเมื่อเปลี่ยนภพภูมิได้
เราชอบสอนกันว่า มีแต่ บุญ บาป ความดีความชั่วเท่านั้นที่ติดตัวเราไป แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ติดใจเราไปจริง ๆ มีเพียง ความรู้ที่พัฒนาจนเป็น "ปัญญา" และ "อารมณ์" หรือคือ สิ่งที่กระทำเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัยเท่านั้น การทำบ่วงในตัวเราเกิดผลตรงนี้เท่านั้นครับ
ส่วนการกระทำบ่วงกับคนอื่น จะส่งผลให้คนอื่นที่เราไปกระทำบ่วงกับเขา แล้วถ้าเขามีความฝังใจแบบอยากเอาคืนกับเรา จึงตามจองล้างจองผลาญเรา ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ว่า เมื่อไร เขาจะอภัยให้เรา จึงเป็นสาเหตุที่เราควรเลี่ยงการสร้างบ่วงลบกับคนอื่นให้มากที่สุด ถ้าจำเป็นก็ให้สร้างบ่วงบวกอย่างที่บอกไว้
หมายเหตุตัวใหญ่ ๆ ไว้ว่า พระพุทธเจ้าให้การรับรองว่า หากผู้ใดรักษา สิ่งสมมติที่เรียกว่า "ศีล 5" นี้ได้ ท่านจะไม่ประสบกับภัยเวรใด ๆ ทั้งในกาลปัจจุบัน และ อนาคต.......ซึ่่งบทความนี้ คือ การแจกแจง และพิสูจน์คำพูดของพระองค์ท่านครับ
สำหรับผู้ที่สนใจอยากอ่านต่อ เรื่องของบ่วง กับ สิ่งสมมติที่เรียกว่าศีลทั้ง 5 ข้อ ว่าเกิดบ่วงอะไรบ้างในศีลแต่ล่ะข้อ สามารถอ่านได้จาก สารบัญ Link ด้านล่างครับ
ด้วยศีลข้อ 3 แปลว่า พระพุทธเจ้าห้ามมี ผัวน้อย เมียน้อย หรือ ต้องมี "ผัวเดียว เมียเดียว" จริงหรือ ?
หากอยากมีสามี หรือ ภรรยาหลายคนต้องทำอย่างไร ให้เกิดบ่วงน้อยที่สุด?
คู่แท้ หรือ soul mate มีจริงไหม? จะรู้ได้ยังไงว่าคนนี้เป็นคู่แท้ของเรา?
อะไร คือ "โทษ" ของความรัก?ทำไมความรักของโลกใบนี้จึงเป็นอกุศลเสียส่วนใหญ่ ?
หากเราตั้งใจจะเป็นผู้ละบ่วง ควรจัดการกับความรู้สึกรักอย่างไร?
Comentarios