มารู้จัก ศีลข้อที่ 2 ตามความเป็นจริงกัน (Sila4/11)
- igqsan
- Apr 15, 2022
- 2 min read
Updated: Jul 17, 2022
ขอต้อนรับเข้าสู่ ตอนที่ 3 ของบทความครับ สำหรับบทความนี้ เราจะมาต่อกันที่ศีล ข้อ 2 ที่ว่าด้วย "อทินนาทานาเวรมณี" ซึ่งเราแปลให้ท่องจำกันแต่เล็กว่า ห้ามลักทรัพย์นะ ห้ามขโมยของนะ ห้ามเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเองนะ แต่จริง ๆ ศีลข้อนี้นั้น มีอะไรที่ลึกกว่า การลักทรัพย์ ขโมยของ หรือ โกงเขา ครับ ลองมาทำความเข้าใจกันครับ
ปุจฉา: จุดประสงค์ของศีลข้อ 2 คือ
วิสัชนา: จุดประสงค์ของศีลข้อที่ 2 คือ ให้พึงระวังการสร้างบ่วงกับสิ่งของที่มีคนผูกบ่วงไว้ โดยเจตนา
ฟังดูแล้ว งง ๆ ใช่ไหมครับ ว่าอะไร คือ สิ่งของที่มีคนผูกบ่วงไว้ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ
สมมติเรามีรถ 1 คัน เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของรถคันนี้ ความรู้สึกที่ว่า เราเป็นเจ้าของรถคันนี้ นั่นคือ "บ่วงเกิดขึ้นแล้ว" เป็นบ่วงจาก "อัตตา" ครับ ความยึดมั่นว่าเป็นของเรา รวมไปถึง "โมหะ" ครับ หลงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา
ดังนั้น ถ้ามีใครมาทำอะไรรถเรา เช่น ชน ทุบ หรือ ขโมย เราก็จะรู้สึก ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ คนที่มาทำอะไรกับรถเรา ถูกไหมครับ นั่นคือเป็นผลต่อเนื่องจากโมหะที่ทำให้เกิดโทสะตามมา
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า บ่วงที่พึงระวังที่สุด คือ บ่วงจากคนอื่น ถ้าเราไปลักของเขา ทำลายของเขา มันก็จะเกิดบ่วง โทสะจากคนอื่นมาผูกติดกับเราโดยอัตโนมัติ ต่อให้เขาไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ บ่วงอกุศล มีผลเฉกเช่น บ่วงกุศลครับ คือ ไม่ต้องระบุตัวเจาะจงหรือรู้ตัวคนทำก็ได้ แคไม่พอใจมันก็ได้ผลในการจองเวรเหมือนกันโดยอัตโนมัติ (นึกถึงเวลาเราไม่พอใจใครก็ไม่รู้ที่มาทำลายของเรา แล้วเราบอก ขอให้คนทำ.... แบบนี้น่ะครับ เราไม่รู้หรอกว่าใครทำ แต่เราก็บอกว่า สิ่งที่มันทำ... นั่นแหละครับ ผูกบ่วงแล้ว)
แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า มันไม่ได้เกิดแค่การลักขโมยครับ ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละศาสนา เช่น รูปเคารพของสิ่งสมมติที่เรียกว่า พระเจ้า หรือ ศาสดาต่าง ๆ ถ้าของศาสนาพุทธก็เช่น รูปสมมติของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระพุทธรูป สิ่งนั้นมีคนรักคนชอบ คนศรัทธา คนบูชา คนกราบไหว้ ยิ่งมากเท่าไร นั่นคือ จำนวนบ่วงที่ผูกเข้ากับสิ่งนั้นยิ่งมากเท่านั้น
หากเราไปทำลายของสิ่งนั้น ลบหลู่ของสิ่งนั้น คนที่รักของสิ่งนั้น ก็จะผูกบ่วงกับเราโดยทันที ซึ่งเราก็อาจจะได้ผลของตอบสนอง เช่น การรุมประชาทัณฑ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการตอบสนอง โทสะ ของคนเหล่านั้นครับ......วัตถุนั้นผูกบ่วงไม่ได้ครับ ทำอันตรายกับเราก็ไม่ได้ แต่คนที่ผูกบ่วงกับวัตถุนั้น ทำอันตรายกับเราได้ครับ
ดังนั้น เวลาจะทำอะไร ก็ขอให้พิจารณาทุกครั้งว่า วัตถุ สิ่งของ สถานที่ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น มีคนผูกบ่วงด้วยมากน้อยเพียงใด และต้องไม่ลืมว่านั้นคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่คำถามคือ....
ปุจฉา: แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า วัตถุ สิ่งของ สถานที่นั้นไม่มีบ่วง?
วิสัชนา: ในกรณีที่สิ่งของนั้นเป็นของส่วนบุคคล มีหลักการเดียวเลยครับ คือ เป็นสิ่งที่ผู้ให้เต็มใจยกให้ ไม่ปรารถนาจะเอาคืน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต และ ผู้รับเต็มใจรับ เช่นนี้จึงไม่เกิดบ่วงครับ
ยกตัวอย่างเช่น เราทำงาน ได้รับเงินเดือน นั่นคือ สิ่งที่ บริษัท กับเราได้ตกลงกันแล้ว ว่า แรงงานและเวลาของเรา บริษัท ยินดีจ่ายหรือแลกให้ด้วยเงินเท่านี้ เช่นนี้ เป็นความเต็มใจทั้ง 2 ฝ่าย บริษัท ยินดีให้ และเราก็ยินดีรับ
แต่ถ้าเราไม่อยากรับ สิ่งของที่บริษัทให้จะกลายเป็น "บ่วงลบ" ทันที ครับ คือเป็น สิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น บริษัทอาจะให้ของอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากได้ ไม่ใช้ เราก็จะรู้สึกไม่ชอบ หรือ รอจังหวะเวลาส่งให้คนอื่นต่อ คือ เกิดความรู้สึกอยากกำจัดมันให้พ้นตัวเรา
ส่วนในกรณีที่บริษัท ไม่เต็มใจให้ เช่น เราไปโกงเงินบริษัท ยักยอกเงินบริษัท อันนี้ก็ชัดเจนนะครับ ว่า บ่วงอกุศลจากทางฝั่งบริษัท ย่อมมาผูกกับเรา
ในกรณีที่สิ่งนั้น เป็นของสาธารณะ สิ่งนั้น ย่อมมีการผูกบ่วงโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีการยกเว้นครับ ตัวอย่างเช่น
เงินภาษีประชาชนครับ เงินภาษีประชาชน จัดเป็นสิ่งของสาธารณะ เพราะเก็บมาจากประชาชนทุกคน และ เงินภาษีประชาชนเป็นเงินที่มีบ่วงโดยอัตโนมัติ เป็น เงินไม่สามารถทำให้ไม่มีบ่วงได้
เหตุผลที่ไม่สามารถทำให้ไม่มีบ่วงได้เพราะ "เราไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนจ่ายภาษีด้วยความเต็มใจได้" ครับ และไม่มีใครสามารถทำได้ด้วย เราทำให้คนจ่ายภาษีด้วยความเกรงกลัวโทษในกฎหมายได้ แต่ ความเกรงกลัวไม่ใช่ความเต็มใจ เหตุนี้ การใช้เงินที่มีบ่วงนี้ ผู้ที่นำเงินนี้ไปใช้ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หาไม่แล้ว ความเดือดร้อนจะเข้าหาตัวเอง เพราะบ่วงที่คนอื่นผูกและจองเวรไว้
ด้วยเหตุผลนี้ครับ เราจึงสามารถเอามาตอบและอธิบายความจริงอีกสองประการได้
ปุจฉา:ทำไมพระมหากษัตริย์ หรือ ผู้มีอำนาจ เวลาทำทานแล้ว ได้กุศลน้อยกว่าสถานะอื่นทำโดยอัตโนมัติ
วิสัชนา:พระมหากษัตริย์ หรือ ผู้มีอำนาจ เป็นสถานะพิเศษครับ คือ เงินหรือสิ่งของที่ได้มานั้น มาจาก แรงงานของคนอื่นที่เรียกเก็บมา ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเป็น "เงินที่มีบ่วง" ซึ่งเพราะการเป็นเงินที่มีบ่วงนี้เอง ทำให้ตัดรอนกุศลจากการทำทานไปแล้วทอดหนึ่ง เพราะเป็นเงินที่ผู้ให้ไม่ได้เต็มใจให้
อีกประการหนึ่ง จุดประสงค์ของการ "ทำทาน" นั้น เป็นไปเพื่อการ "ฝีกฝนจิตให้ละ" ยิ่งละได้มากเท่าไร ยิ่งเรียกว่า กุศลแรง มากเท่านั้น แต่เงินที่พระมหากษัตริย์ หรือ ผู้มีอำนาจได้มานั้น หากเป็นสิ่งที่ตัวผู้รับ รู้สึกว่าได้รับมาง่าย ๆ ไม่ได้รู้สึกว่ายากลำบากกว่าจะได้รับมา อีกทั้งการใช้ชีวิตก็ไม่ได้ขัดสน เวลาทำบุญ กุศลที่เกิดจะน้อยมาก เพราะจิตแทบไม่ได้ฝึกซึ่งการละเลย
ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำ หรือ ขอทาน ที่เก็บเศษขยะเอาไปขายหาเงินมาด้วยความยากลำบาก ชีวิตก็อัตคัต แต่ก็ยังมีเมตตาเจียดเอาเงินได้ไปซื้อข้าวให้สุนัขจรจัดกินด้วยความเต็มใจ และ อิ่มเอมในสิ่งที่ทำ เช่นนั้น กุศลที่ได้ ย่อมแรงมากกว่า การที่กษัตริย์หรือผู้มีอำนาจทำทานเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน โดยที่ไม่ได้ทำให้จิตใจของกษัตริย์ หรือ ผู้มีอำนาจ ละวางได้มากขึ้น
จึงเป็นเหตุผลที่ คนมีเงินมากเท่าไร เวลาทำทานยิ่งกุศลน้อยมากเท่านั้น จึงต้องทำให้เยอะ ๆ เพื่อให้จิตได้ฝึกซึ่งการละ (อารมณ์ เหมือนคนมีเงิน 100 บาท เสีย 10 บาทก็ 10 เปอร์เซนต์แล้ว แต่ถ้ามีเงินสักพันล้าน เสีย 10 บาท ก็แค่ 0.000001% คือ รู้สึกว่าขนหน้าแข้งไม่ร่วง เว้นแต่เป็นคนขี้งก อันนี้ก็จะได้เยอะหน่อย)
อ้าวแล้วถ้าเงินนั้น เป็นเงินที่มีคนให้กษัตริย์หรือผู้มีอำนาจโดยตรงล่ะ จะเรียกว่าเต็มใจให้ไหม?
ตรงนี้ต้องดูจุดประสงค์ของผู้ที่ให้เงินนั้นครับ หากผู้ที่ให้เงินนั้น ให้โดยจุดประสงค์ คือ ให้กษัตริย์ ให้ผู้มีอำนาจใช้ตามความพอใจตัวเอง ด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์อื่นใดตอบแทน หรือเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ เงินนั้นจะไม่มีบ่วงครับ หากไปใช้ทำทานก็ได้กุศลเยอะกว่า เงินที่มีบ่วง
แต่ ถ้าเงินนั้นมาจากการให้โดยหวังว่า จะได้รับอะไรตอบแทน หรือ เป็นการตอบแทนจากการที่กษัตริย์หรือผู้มีอำนาจได้ใช้อำนาจที่ตัวเองมีเพื่อการใดที่เป็นประโยชน์กับตัวผู้ให้แล้ว และอำนาจที่ใช้นั้น ยังมาซึ่งความไม่พอใจแก่บุคคลอื่น ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้อำนาจนั้น เงินนั้นย่อมมีบ่วงครับ (บ่วงจากความอิจฉาริษยาจากบุคคลอื่นครับ)
แล้วแบบนี้ กษัตริย์ หรือ ผู้มีอำนาจ ควรทำบุญอย่างไร?
อย่างที่บอกไปครับ ว่า เงินนั้นเป็นเงินที่มีบ่วง อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงิน ล้วนแต่ลดทอนกุศลทั้งสิ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรทำทาน กลับกัน การใช้เงินที่มีบ่วงนั้น ควรใช้กับสิ่งที่ทำให้เกิดบ่วงบวกมากที่สุด เพื่อ "ลด" ความหนักของบ่วงจาก "ความไม่พอใจในการจ่าย" ครับ ดังนั้น การทำทาน จึงเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด แม้จะได้กุศลน้อยก็ตาม
การทำบุญที่ผมแนะนำ ไม่เพียงเฉพาะกับ กษัตริย์ และ ผู้มีอำนาจ คือ การทำบุญด้วยการ ภาวนา หรือ ที่เรียกว่า "การปฏิบัติ" เพราะ "บุญสูงสุด" หรือ "กุศลสูงสุด" คือ การมี "สติ" เพราะ "สติเป็นพื้นฐานหนึ่งของ "การละ"

ดังน้้นผมแนะนำให้ "ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนว สติปัฏฐาน 4" เพื่อให้เกิดการรู้แจ้ง ในปัญญา ไหน ๆ ท่านก็เป็นผู้ที่มีบุญพาวาสนาส่งให้ไม่มีความอัตคัตในการชีวิตแล้ว ท่านก็ควรใช้วาสนาของท่านให้เป็นประโยชน์ เพราะไม่รู่ว่า วาสนาท่านจะหมดลงเมื่อใด
และขอให้ท่าน เจริญซึ่ง "เมตตา" ให้มาก ๆ เพื่อลดบ่วงในตัวท่านเอง เหตุเพราะ ด้วย อำนาจ และ วาสนาที่ท่านมี ธรรมชาติของมันส่งผลให้คนผูกบ่วง จองเวรกับท่านเยอะโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งการที่ท่านต้องปกครองหรือผูกบ่วงกับคนจำนวนมาก มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีคนชอบ ไม่ชอบท่าน ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ห้ามไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ท่านพอทำได้ คือ ดูแล "จิตใจ" ของท่านเอง ไม่ให้มีบ่วง หรือ แล่นไปตามสิ่งเร้ามากจนเกินไป อันจะส่งผลลบกับตัวท่านเอง ทั้งในแง่การใช้ชีวิตโดยประมาท และ สร้างบ่วงลบที่ท่านควบคุมไม่ได้ อันจะเป็นผลสะสมให้เกิดผลที่เป็นลบโดยรวมตามมาในที่สุด
คำถามต่อไป มาถึงอีกสถานะหนึ่งครับ
ปุจฉา: พระสงฆ์สึกแล้ว นำเงินที่ได้จากตอนที่เป็นสงฆ์ออกมาใช้ในโลกคนทั่วไป สมควรไหม?
วิสัชนา : อันที่จริงพระสงฆ์นั้น ตามบทบัญญัติของพระพุทธเจ้านั้น รับเงินไม่ได้ ใช้เงินก็ไม่ได้ จับต้องก็ไม่ได้ จัดเป็นวัตถุอนามาส ยิ่งไม่ต้องรวมถึงการวิ่งผ่านบัญชี
แต่เนื่องด้วยปัจจุบัน ในแง่ความสะดวกของพระ จึงมีการอนุญาตให้พระใช้เงินได้ เช่น เพื่อการจ่ายค่าโดยสาร, การจ่ายค่ารักษาพยาบาล, การซื้อยาฉันเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำได้โดยไม่อาบัติ การใช้เงินทุกครั้ง คือ การอาบัติทุกครั้ง
แต่ส่วนใหญ่ พระมักจะปลงอาบัติทุกเช้าเย็น จนเป็นกิจ.......จนทำให้ "ปราศจากความละอายในการทำอาบัติ" ทั้งที่จุดประสงค์ของการปลงอาบัตินั้น คือ การสำนึกในความผิดตัวเอง และประกาศความผิดตัวเองต่อผู้อื่น เพื่อให้เกิดความละอาย มีผู้อื่นเป็นประจักษ์พยานว่าจะ มีความละอาย และ จะไม่ทำอีก
อนึ่ง เวลา บวช หรือ สึกนั้น มีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เป็นการสมมติว่า "เราได้ตายจากฐานะหนึ่งไปเกิดใหม่ในอีกในฐานะหนึ่ง" เมื่อบวช เราจึงมีชื่อเรียกใหม่ที่ใช้ในโลกแห่งสงฆ์ และ ตายจากความเป็น คฤหัสถ์ เฉกเช่นกับตอนสึก เราได้ ตายจากความเป็น สงฆ์ เกิดใหม่ในความเป็นคฤหัสถ์ (และหากบวชใหม่อีกรอบ ก็เปลี่ยนชื่ออีกรอบ เพื่อให้ตระหนักว่า มันเกิดแล้ว ตั้งอยู่แล้ว จบไปแล้ว ไม่ได้ต่อเนื่องกัน)
ดังนั้น เมื่อตายจากฐานะนั้น แล้ว การที่ท่านนำเงินที่ได้จากตอนที่ท่านมีฐานะเป็นสงฆ์ มาใช้ในฐานะคฤหัสถ์ เงินนั้นจึงเป็นเงินที่มีบ่วงโดยอัตโนมัติ สาเหตุเพราะ เงินนั้นผู้ให้ ให้ในฐานะที่ท่านเป็นพระ แม้จะเป็นการให้ที่ระบุตัวตนว่าให้ท่าน แต่ด้วยท่านนั้นมีฐานะของความเป็นพระติดตัวอยู่ เมื่อท่านตายจากความเป็นพระ เงินนั้น คือ เงินของโลกของสงฆ์ เหมือน เงินสาธารณะ เงินส่วนกลาง เป็นเงินที่บ่วงโดยอัตโนมัติ หากท่านเอามาใช้ในฐานะคฤหัสถ์ก็จะมีบ่วงติดตัวท่านไปตลอด
สิ่งที่ท่านควรทำ คือ ก่อนสึกท่านควรสละเงินนั้นทิ้งเสีย ออกมาตัวเปล่าเล่าเปลือยไม่มีอะไรเลย
ปัจจุบันนี้มีพระจำนวนมาก ที่บวช เพื่อหาเงิน เข้าไปบวช เพื่อเก็บเงิน โดยอาศัยเงินจากญาติโยม พอได้เงินแล้วก็สึกออกมา บางรูปแย่หน่อย บวชไปก็ทำตัวเหมือนคฤหัสถ์ไปด้วยซ้ำ ยิ่งพระบางรูป ถึงกับประกาศออกสื่อ มาบวชเพราะบ้านจนไม่มีกิน ประกอบอาชีพไม่ได้
ถ้าท่านบวชด้วยเหตุผลเหล่านี้ อย่าบวชเลย เพราะพระโดยปกติก็เป็น "ผู้ขอ" อยู่แล้ว แต่ความต่างของพระคือ เป็นการขอเพื่อยังชีพ เพื่อใช้สังขารในการทำความเพียรเพื่อให้แจ้งในทุกข์ และพ้นทุกข์ แต่ท่านเป็นผู้ขอเพื่อสนองกิเลสตัวเอง โดยไม่มีความละอาย การกระทำของท่านจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อการละบ่วง แต่เป็นการเพิ่มบ่วงยิ่งขึ้น ดังนั้น อย่าบวชให้เสียข้าวสุกชาวบ้านเลย
สำหรับศีลข้อ 2 ผมขอจบเนื้อหาแต่เพียงเท่านี้ครับ ห่กท่านใดมีข้อสงสัยก็สามารถทิ้งคำถามไว้ด้านล้างได้ ผมจะได้นำมาปรับปรุงบทความต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
Comments