บทส่งท้าย: จุดอ่อนของพระไตรปิฎก (Sila9/11)
- igqsan
- Apr 16, 2022
- 4 min read
Updated: Jul 13, 2022
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ บทส่งท้ายของบทความครับ ที่ผมใช้คำว่า ส่งท้าย เพราะผมมี บทสรุป ซึ่งเป็นการย่อเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้ออย่างเดียว มาไว้ใน 1 หน้ากระดาษ A4 ให้ได้ โดยตัดทอนเนื้อหาส่วนที่เป็นการขยายความออกไป....(ยังอยู่ในระหว่างจัดทำ) ซึ่งตามจริงแล้ว เนื้อหาส่วนที่ขยายความนี่แหละสำคัญที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาอ่านเยอะ ๆ จริงไหมครับ ดังนั้นหากท่านไหนสนใจอยากอ่าน ประโยชน์ที่เรียกว่า "ความรู้" ก็จะเกิดกับตัวท่านผู้อ่านครับ
ก่อนจะว่ากันถึงว่า สมัยพระพุทธเจ้าเราเคยเห็นมีการสมาทานศีล 5 จริงหรือ ผมขอตั้งคำถามขึ้นมาก่อนครับ
เราจะรู้ได้ยังไงว่า "พระพุทธศาสนา ที่เราสอน ๆ กัน หรือสิ่งที่อ้างว่า เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น" เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ หรือ ที่เรียกว่า "พระสัทธรรม"?
เคยมีใครสงสัยไหมครับ? ว่าที่ทุกคนบอกว่า พระพุทธเจ้าสอน ๆ เนี่ย พระพุทธเจ้าสอนจริงหรือ? เอาอะไรเป็นเครื่องยืนยัน บางคนก็จะบอกว่า เอาพระไตรปิฏกสิ ถ้าบอกว่า เอาพระไตรปิฏก แล้วรู้ได้ยังไงว่าพระไตรปิฏกนั้นถูกต้อง.....บางท่านเมื่อถูกไล่ถามหนัก ๆ เข้า ก็จะจนปัญญา แล้วก็ใช้คำศักดิ์สิทธิ์ว่า "การไม่เชื่อพระไตรปิฏกนั้น คือ บาป"
การไม่เชื่อพระไตรปิฏกนั้น บาปจริงหรือ?
ก่อนอื่น ผมขอให้ทุกท่าน ต้้งสติ ละอัตตา แล้ว คิดถึง จุดอ่อนตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติของพระไตรปิฏกครับ
ปุจฉา : จุดอ่อนของพระไตรปิฎก ตามความจริงของธรรมชาติ มีอะไรบ้าง?
วิสัชนา :
1. พระไตรปิฏก เป็นข้อมูลชั้นทุติยภูมิ เป็นต้นไป
กล่าวคือ เวลาเราอ่านพระไตรปิฏก คือ เราอ่านบันทึกจากคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟังต่อกันมา แม้ว่าจะบอกว่า เป็นบันทึกจากปากคำของผู้ที่บรรลุพระอรหันต์แล้ว ในการสังคายนาครั้งแรก ซึ่งแน่นอน ชุดนั้นอาจจะถูกต้องที่สุด แต่.....เราก็ต้องไม่ลืมว่า นั่นเป็นเพียงการเล่าต่อกันมา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง "กาลามสูตร" ถือเป็นสิ่งที่เราไม่ควรเชื่อ ควรยึดมั่นถือมั่น โดยไม่ผ่านการพิสูจน์หรือไตร่ตรองด้วยตัวเราเอง
2. เอาอะไรยืนยันว่าพระไตรปิฏกนั้น คือ "พระสัทธรรม"จริง ไม่มีการเสริมเติมแต่ง
สิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฏกนั้น มีอายุมากมากกว่า 2,500 ปี มีการผ่านการสังคายนามาหลายต่อหลายครั้ง ท่านมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะมีการแต่งเสริมเติมแต่ง หรือ ตีความตามอัตตาตัวเอง
และสิ่งที่เรียกว่า พระสัทธรรมนั้น พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแล้วเรียบร้อย ตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามีอายุ 500 ปี ดังปรากฎใน โคตมีสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าการที่ให้สตรีบวชนั้น ทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ 500 ปี แทนที่จะเป็น 1,000 ปี
ทั้งนี้แม้จะมีการแก้ หรือ อธิบายเพิ่มเติมว่า ใน อรรถกถา เพราะได้ระบุครุธรรม 8 ไว้แล้ว จึงมีอายุ 1,000 ปี เหมือนเดิม อีกทั้ง ยังได้มีการอธิบายเสริม จนพระพุทธศาสนามีอายุ 5,000 ปี แต่โดยธรรมชาติของคัมภีร์อรรถกถานั้น เกิดจากอัตตาที่ผู้เขียนที่เขียนอธิบายความขึ้นมาโดยอาศัย "อัตตา" ของตัวเอง ความน่าเชื่อถือ จึงมีต่ำที่สุด
ทั้งนี้และทั้งนั้น พระพุทธศาสนาที่อินเดียน้้น ก็ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไปแล้ว พระพุทธเจ้าถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพระนารายณ์ไปแล้ว

เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นหรือรักษาสิ่งสมมติที่เรียกว่า พระพุทธศาสนาให้คงอยู่แต่อย่างใด เพราะพระพุทธศาสนาก็อยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง เหตุนี้พระองค์ท่าน จึงให้ไปอินเดีย ไปดู "สังเวชนียสถานทั้ง 4 " เพื่อให้เห็น "ความสังเวช" ของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับ ไป เป็นทุกข์ ควบคุมไม่ได้
และสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกหนึ่งอย่างหนึ่ง คือ การแตกเป็นนิกายต่าง ๆ โดยจุดประสงค์ เพื่อต้องการจำนวนผู้เชื่อถือ ผู้ศรัทธา เหตุนี้ คำสอนจึงมีการดัดแปลง ปรับปรุงออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พระญี่ปุ่น สามารถมีภรรยาได้ ทั้งที่โดยหลักของความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถมีได้
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า สิ่งที่เรียกว่า "พระพุทธศาสนา" ที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้นั้นทั้งหมด ล้วนไม่ใช่ "พระสัทธรรม" อีกต่อไปแล้ว คำพูดนั้นก็มีความเป็นจริงได้
และถ้าสมมติว่าทุกสิ่งน้้นเป็นของปลอมทั้งหมดจริง ๆ เราควรที่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองด้วยการพยายามรักษาของปลอมหรือไม่?
อย่างไรก็ดี ในมหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค วรรคที่ 139 พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรม แก่ สุภัททปริพาชก ซึ่งมาถามธรรมกับพระองค์ก่อนปรินิพพาน ว่า ในบรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายที่มีชื่อเสียงนั้น ใครจะได้ตรัสรู้ ไม่ได้ตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสห้าม ไม่ให้ถามแบบนั้น พร้อมทั้งแสดงธรรมโปรดว่า "ในพระธรรมวินัยใด หากมี มรรค อันมีองค์ 8 เป็นที่ตั้งแล้ว ผู้ที่อยู่ในธรรมวินัยนั้น ย่อมมี สมณะที่ 1 2 3 4 และ โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์"
นั่นคือ แม้ว่า พระพุทธศาสนา จะไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว แต่หากเราดำรงชีวิต ด้วยหลักของมรรคอันมีองค์ 8 แล้ว เราก็ย่อมบรรลุอรหัตถผลได้
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด จึงไม่ใช่สิ่งสมมติอย่างศาสนา แต่คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งการแยกให้ออกว่า อันไหนที่เป็น "พระสัทธรรม" นั้น คือ สิ่งสำคัญ
3.พระไตรปิฏกนั้นมีการแปล
หากใครที่เคยแปลภาษา และเข้าใจกระบวนการแปล จะรู้ทันทีว่า การแปลนั้น ใช้ "อัตตา" เป็นใหญ่ กล่าวคือ เป็นการใช้ "สัญญา" หรือ ความรู้ที่เราได้รับมาว่า อันนี้แปลว่าอะไร มาผ่านกระบวนการคิด ที่เราคิดเอง และเข้าใจ ตีความว่า มันหมายความว่าแบบนี้ แล้วก็แปลออกมา
คำถามคือ รู้ได้ยังไงว่าแปลถูก นี่ยังไม่รวมถึงการตีความอีก ที่แต่ล่ะคนแปลก็ตีความกันคนล่ะแบบได้
อีกทั้งพระไตรปิฏกมีลักษณะเฉพาะอีกอย่างคือ "ไม่มีใครสามารถเข้าใจพระไตรปิฏกได้ทั้งหมด เพราะปัญญาแต่ล่ะคนไม่เท่ากัน"
พระไตรปิฏก แม้จะเป็นการบันทึกรวมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แต่ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น มีหลายระดับ พระองค์ท่านแสดงธรรม แบบเป็นของเฉพาะบุคคล กล่าวคือ คนผู้นั้นมีปัญญาระดับไหน พระองค์ท่านจะแสดงธรรมให้เหมาะสมกับผู้นั้น เหตุนี้เราจึงรู้สึกว่าบรรลุธรรมกันง่าย ดังนั้น ธรรมบางเรื่องหากแสดงให้ผู้มีปัญญามากฟังแล้ว ผู้ที่มีปัญญาต่ำ ก็ไม่อาจเข้าใจได้ และท่านรู้ได้อย่างไรว่าผู้แปล มีปัญญาสูงมากพอที่จะทำความเข้าใจได้ เรียบเรียงได้ เข้าใจความตามจุดประสงค์พระพุทธเจ้าจริง ๆ
4.พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ด้วยพระไตรปิฏก
อย่างที่ทราบกันว่า พระไตรปิฏกนั้นเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้า เช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ตรัสรู้ด้วยพระไตรปิฏก แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ได้จากการสังเกตตัวพระองค์เอง แจ้งด้วยปัญญาที่เกิดในตัวเอง ดังนั้น หากเราต้องการจะตรัสรู้ตามพระองค์ท่าน เราก็ควรจะปฏิบัติตามท่าน ไม่ใช่ท่องจำตำรา โดยที่ไม่เคยทำ
5. การจำพระไตรปิฏกได้นั้น ทำให้เกิดได้อย่างมากก็แค่ "ความเชี่ยวชาญในสัญญาเท่านั้น" ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้
ในระบบการศึกษาปัจจุบัน หากใครอยู่สายการศึกษา และ เชี่ยวชาญเรื่องการทำวิจัย จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เวลาทำวิจัย คือ การอ่านหนังสือเยอะ ๆ จนเรารู้ในเรื่องนั้น แล้วอาศัยอ้างอิงตำราเก่า ๆ ที่เรารู้มา โดยติ๊งต่างว่า มันเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว เพราะมีการวิจัยมาแล้ว (ทั้งที่มันอาจจะผิดก็ได้ มันอาจจะจงใจทำขึ้นมาก็ได้) ในทางโลกกียะ เราอ้างอิงสิ่งเหล่านี้ว่าคือความรู้ คือ ตัววัดปริญญา แต่ในทางโลกุตตระ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ "สัญญา" กล่าวคือ ไม่สามารถนำข้ามภพข้ามชาติฝังใจไปได้
เช่นเดียวกันกับผู้ที่จำพระไตรปิฏกได้ แม้ท่านจะจำพระไตรปิฏกได้ จำเนื้อหาได้ทั้งหมด สามารถอธิบายความได้ จนได้ สิ่งสมมติที่เรียกว่า "เปรียญ 9" แต่ท่านก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าได้ หากท่านไม่เคยปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติไม่ได้ ประหนึ่งเหมือน ท่านอ่านหนังสือ วิธีการว่ายน้ำ แม้อ่านจนจำได้ทั้งหมด แต่ท่านไม่เคยว่ายจริง ท่านก็ไม่สามารถว่ายเป็นได้
ดังน้้นแล้ว โดยธรรมชาติ พระไตรปิฏก ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ไม่ควร ยึดมั่นถือมั่น และ ตกอยู่ในความไม่เที่ยง เราสามารถอ่านมันเพื่อเก็บเอาความรู้ได้ คลายข้อสงสัยได้ แต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นบูชามันราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ เพราะนั่นคือ การกระทำที่ขาดสติ
ปุจฉา: แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ธรรมนั้นเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนจริง ๆ
วิสัชนา: นับว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งครับที่ใน สังขิตตสูตร จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ได้กล่าวถึง เมื่อครั้ง พระนางมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปขอธรรมะจากพระพุทธเจ้า เพื่อการปฏิบัติธรรม หลังจากที่นางได้บวชเป็นพระภิกษุณีรูปแรกแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า
ธรรมอันใดที่เป็นไปเพื่อ
1. สร้างความกำหนัด
2. ประกอบสัตว์ไว้ในภพ
3. สร้างความสั่งสมในกิเลส
4. สร้างความมักมาก
5. สร้างความไม่สันโดษ
6. สร้างการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
7. สร้างความเกียจคร้าน
8. สร้างความเลี้ยงยาก
ธรรมนั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือ หากกล่าวโดยสรุปเพื่อให้จำง่าย ๆ คือ
"ธรรมใดที่ไม่เป็นไปเพื่อการประกอบความเพียรในการละ ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า"
เช่นนี้แล้ว หวังว่าทุกท่านคงจะได้ "หลักพิจารณา" ในการวิเคราะห์ธรรมที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตท่าน ว่า ธรรมไหนเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ธรรมไหนไม่ใช่มีความแปลก ๆ อยู่
ปุจฉา : ถ้าอย่างนั้น เราควรใช้งานพระไตรปิฏกอย่างไร?
วิสัชนา : ออกตัวไว้ก่อนว่า เนื้อหาในส่วนนี้ล้วนเป็น "อัตตาของผมล้วน ๆ " ที่ว่าเป็นอัตตา เพราะ มันมาจากการ "ตัดสิน" ของตัวผม แม้ว่าพื้นฐานผมยึดหลัก "กาลามสูตร" คือ ไม่เคยเชื่อในสิ่งใดเลยก็ตาม แต่ "อัตตา" หรือ คือ "ความคิดของตัวผมเอง" ก็คือ "อัตตา" พระพุทธเจ้าไม่ยกย่อง เป็นสิ่งควรละ ถ้ายะงละไม่ได้ ให้ รับรู้ว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อไร ดังนั้น ในเมื่อมันคือ "อัตตาล้วน ๆ " ขอให้ใช้ "สติ" และ "ปัญญา" ในการพิจารณามากกว่าปกติ อย่าเชื่อโดยไม่ไตร่ตรองครับ
โดยส่วนตัวผมเมื่อได้ลองศึกษาพระไตรปิฏกบางส่วน จึงได้ลองจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล รวมถึง อัตราความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลว่า ควรเป็นอย่างไร และเพื่อประกอบความเข้าใจ ผมได้อธิบายแจกแจงไว้ทั้งหมดว่าทำไมถึงคิดเห็นแบบนี้ เหคุเพื่อให้ทุกท่านได้ใช้สติและปัญญาของทุกท่านในการคิดพิจารณาว่า ควรจะเชื่อตามหรือไม่ โดยหลักยึดที่ผมใช้ในการจัดลำดับว่ามากกว่าน้อยกว่า มาจาก "ประโยชน์ของข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้เพื่อ การตรัสรู้ และ บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพภูมิชาตินี้ได้" ปัจจุบันนี้ด้วยโลกของข้อมูลที่มีมากมาย ทำให้เราเกิดปัญหาข้อมูลมากมายจนไม่รู้อันไหนใช้ได้ ทำให้ผมจำเป็นต้องคัดและเลือกสิ่งที่ใช้ได้ดีที่สุดขึ้นมา ดังคำที่ อาจารย์ผมเคยสอนไว้ว่า " สมัยก่อน (พุทธกาล) ธรรมะหายาก แต่เข้าถึงง่าย สมัยนี้ ธรรมะหาง่าย แต่เข้าถึงยาก"
ก่อนอื่น โดยพื้นฐานของพระไตรปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์ นั้น ประกอบด้วย
1. พระวินัยปิฏก 21,000 พระธรรมขันธ์ เป็นปิฏกแรกที่มีการชำระขึ้น โดยจุดประสงค์เพื่อให้เป็นบาตรฐานแค่สมมติสงฆ์ เนื้อหาภายในประกอบด้วย ข้อปฏิบัติสำหรับ สงฆ์ เป็นส่วนใหญ่
2. พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ เป็นปิฏกที่รวมพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่สัตว์โลก รวมถึงธรรมที่พระอัครสาวกแสดงแก่สัตว์โลก
3. พระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์ เป็นปิฏกที่รวมบรวม กลั่นกลอง อธิบายหลักธรรมะ อย่างเป็นระบบ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใด ๆ โดยจุดประสงค์เพื่อให้เป็นเหมือนดั่งหลักวิชา
นอกจากนี้ยังมีของแถม ที่เรียกว่า
4. คัมภีร์อรรถกถา เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นมาเพื่อขยายความอธิบายความในพระไตรปิฏก รวมถึง มีเรื่องราวของพระอรหันต์ และ พระภิกษุ รูปอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล
และส่วนพิเศษ ที่มีในประเทศไทยเท่านั้น
5. หนังสือ ไตรภูมิพระร่วง และ หนังสือ พุทธวจนะ เป็นหนังสือ ที่แต่งขึ้นในไทยในยุคอดีตและปัจจุบัน โดยจุดประสงค์เพื่อประมวลธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ง่ายต่อการอ่าน และศึกษา
ทั้ง 5 อย่างนี้ ผมให้ลำดับความน่าสนใจและควรศึกษา ดังนี้ครับ
พระสุตตันตปิฎก > พระวินัยปิฏก > พระอภิธรรมปิฎก > คัมภีร์อรรถกถา > ไตรภูมิ และ พุทธวจนะ
เหตุที่ผมลำดับเช่นนี้เพราะ
1. พระสุตตันตปิฎก
4 ใน 5 ส่วนของปิฏกนี้ ขึ้นต้นด้วยคำว่า เอวัมเม สุตตัง ซึ่งแปลว่า "ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า" ซึ่งผู้ที่ได้ฟัง คือ พระอานนท์ พูดง่าย ๆ ปิฏกนี้คือ ข้อมูลลำดับ 2 ที่พระอานนท์เอาสิ่งที่ตัวเองได้ยินพระพุทธเจ้าเทศน์ และเล่าให้ฟัง มาบอกต่อ ถือเป็น ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงมาน้อยมาก
และ พระธรรมสำคัญ ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญปัญญา และ ตรัสรู้ ก็มักอยู่ในบทนี้ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมจักร เมตตาใหญ่ ก็อยู่ในหมวดนี้ ที่สำคัญ การขึ้นต้นด้วย เอวัมเม สุตตัง นั้น ถือ เป็นการเจริญสติ หรือ แจ้งให้รู้ว่า เป็นการเล่าสืบต่อกันมา ขอให้ใช้ปัญญาพิจารณา และไม่มีอัตตาของตัวเองเจือปน
อย่างไรก็ตาม เวลาผมอ่านผมจะเช๊คบาลีตามด้วยทุกครั้ง เพื่อดูว่า มีอะไรแปลก ๆ ไหม แปลไทยมีโอกาสแปลถูกหรือเพี้ยนอย่างไรบ้าง
2. พระวินัยปิฏก
เป็นปิฏกที่สำหรับ สามัญชน หรือ คฤหัสถ์นั้น ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องสักเท่าไร ส่วนตัวผมจึงอ่านผ่าน ๆ แต่ตอนบวชเป็นพระนั้น เป็นส่วนที่อ่านเยอะพอควร อ่านจนพอจับและเข้าใจหลักในตีความพระวินัยได้ก็รู้สึกว่า พระวินัยไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจและปฏิบัติ และ พิจารณาว่าอย่างไหนทำได้ไม่ได้ โดยไม่ต้องมานั่งเปิดหนังสืออ้างอิง จึงได้กล้าพูดว่า ธรรมะไม่เหมือนกฎหมาย ไม่ต้องตีความแบบกฎหมาย เพราะ ธรรมะอยู่เหนือสัญญา ส่วนที่เหลือก็แค่ ที่มาของพระวินัยนั้นว่ามีที่มาอย่างไรเท่านั้น แต่หากท่านเป็นสงฆ์ ท่านก็ควรศึกษาโดยละเอียด
3. พระอภิธรรมปิฏก
มั่นใจว่าหลายคนคงสงสัยว่า ทำไมผมถึงให้ความสำคัญน้อย ทั้งที่เป็นส่วนที่เยอะที่สุด คำตอบคือ "เพราะเป็นส่วนที่สร้างขึ้นจาก "อัตตา"" ครับ การประมวล หรือ การเรียบเรียงอะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้เป็นระบบระเบียบเป็นแบบแผนขั้นตอน พื้นฐานของมันคือ "อัตตา" ว่า จะเขียนอย่างไร จะจัดเนื้อหายังไง จะพูดยังไง จะอธิบายยังไงให้คนเข้าใจ ที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย
แม้ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นละเอียดสุดก็ตาม แต่ด้วยอัตตาที่เจืออยู่นี้ ทำให้ผมจัดค่ามันไว้เป็นเหมือน "หนังสืออ้างอิง" หรือ สารานุกรม ที่ เอาไว้อ่านเพื่อเก็บเนื้อหาเพิ่มเติมเท่านั้น
4. คัมภีร์อรรถกถา
เป็นคัมภีร์ ส่วนที่อธิบายขยายความเนื้อหาในพระไตรปิฏก รวมถึงมีเนื้อหาอื่น ๆ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏกรวมอยู่ด้วย เช่น ประวัติพระใบลานเปล่า ที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงไม่ยกย่องคนจำพระไตรปิฏกได้ เพราะเหมือน ใบลานเปล่า เป็นต้น คัมภีร์ส่วนนี้จัดเป็นส่วนที่รวมอภินิหารต่าง ๆ เยอะที่สุด เป็นส่วนที่ พระชอบเอามาเทศน์กันมาก เพราะมัน "สนุก!!"
แต่แน่นอน มันเป็นส่วนที่เต็มไปด้วยอัตตาล้วน ๆ
5. หนังสือ ไตรภูมิพระร่วง และ หนังสือ พุทธวจน
หนังสือไตรภูมิพระร่วง จัดเป็นหนังสือที่เก่าแก่เล่มหนึ่งของไทยแต่งโดย พระเจ้าลิไท ในสมัยสุโขทัย จุดประสงค์.....เพื่อใช้ในการปกครองคนให้ง่ายขึ้นครับ เพราะถ้าผู้คนกลัวบาปกลัวกรรมก็จะไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีใช่ไหมครับ เนื้อหาในส่วนนี้จึงเป็นเนื้อหาดัดแปลงจากพระไตรปิฏก จึงเรียกว่าเป็น อัตตาล้วน ๆ แต่ด้วยความที่มันเป็นของปลอม และ มีอิทธิพลกับศิลปะวัฒนธรรมของไทยเยอะ คนเลยคิดว่ามันเป็นของจริง เช่นเรื่องของ สถาปัตยกรรม เขาพระสุเมรุ ที่นิยมใช้ในการสร้างวัด เป็นต้น เช่นนี้ ผมจึงให้คุณค่ามันค่อนข้างต่ำมาก
หนังสือ พุทธวจน เป็น หนังสือ ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงหลัง ไม่รู้ว่า เพราะ Motto ถ้าจะศึกษาพระธรรมให้ศึกษาจาก พุทธวจน จึงเป็นของถูกต้อง ที่ไม่รู้ใครเป็นพูดขึ้นมาคนแรก ไม่รู้ว่าพูดโดยจุดประสงค์อะไร
หากคำว่า พุทธวจน หมายถึง คำที่พระพุทธเจ้าพูดออกมาแล้ว ก็ควรจะอ่าน พระสุตตันตปิฎก น่าจะดีกว่า แต่ถ้าหากคำว่า พุทธวจน หมายถึง ชื่อ ซีรีส์หนังสือ แล้วล่ะก็ ตัวผมเองเจอจุดที่ทำให้ผมจัดมันเป็น หนังสือ กลุ่มที่สร้างขึ้นจากอัตตาเช่นกัน และ เป็นกลุ่มที่อ่านเล่น ๆ พอได้ แต่ไม่ให้ค่าความสำคัญในการอ้างอิง
ตัวอย่างที่ผมเจอ คือ
ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตลอดเวลาระหว่างนั้น
ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมเขากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! (อนึ่ง) ตถาคตกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น,
ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น
อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.
ประเด็นคือ ผมอยากทราบว่า ประโยคนี้อยู่ที่ใดในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้าพูดตอนไหน จึงได้ นำเอา "อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓." ไปค้นหา แล้วก็พบว่า ตัวเลข 25/32/293 นั้น คือ ตัวเลขอ้างอิง ที่ใช้ในการสรุปรวบรวมประเด็น จากพระไตรปิฏก ทั้ง 3 ส่วนนั้น มาสรุปประมวลเป็นคำพูดนี้ใหม่ ดังนั้น ประโยคนี้จึงไม่มีจริงในพระไตรปิฏก
เหตุนี้ผมจึงจัดว่า เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยอัตตา อ่านสนุก ๆ ได้ แต่ไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง หรือ แม้แต่จะยึดมั่นถือมั่นแม้แต่เพียงนิดเดียว
อีกส่วนที่ไม่อยากให้ทุกท่านยึดเวลาศึกษา พระไตรปิฏกคือ "พุทธประวัติ" ครับ แต่เป็นส่วนที่คนไทยชอบกันมาก โดยเฉพาะพวกเรื่องอภินิหารต่าง ๆ แม้ว่าโดยตัวผมจะพิสูจน์ด้วยตัวเองจนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วว่า "อภิญญานั้นมีอยู่จริง ทำได้จริง" แต่เรื่องพวกนี้เป็น ปัจจัตตัง คือ เป็นของเฉพาะบุคคล
อีกทั้งทุกอย่างเป็นเรื่องที่ เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่แล้ว จบไปแล้ว เราไม่ได้เห็นกับตาตัวเองด้วย หากจะมีคนเขียนแต่เสริมเติมแต่งเพื่อเรียกศรัทธา มันก็มีความเป็นไปได้ เพราะคนชอบเรื่อง อภินิหารพวกนี้ จัดเป็นเครื่องล่อโลภะอย่างดี
ด้วยความเป็นไปได้ทุกอย่างแล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรสนใจ คุณค่าของมันมีค่าเทียบเท่า "แม่บ้านเมาท์เรื่องชาวบ้าน" เท่านั้น เพราะ คุณจะไปอยากรู้เรื่องชาวบ้านทำไม สนใจทำไม มันช่วยให้เราเป็นพระอรหันต์ได้ไหม สู้สนใจคำสั่งสอนดีกว่าไหม?
สรุป หากท่านจะศึกษาพระไตรปิฏก ผมแนะนำให้เริ่มศึกษาที่ "พระสุตตันตปิฎก" โดยอย่าลืมตรวจสอบบาลีประกอบไปด้วย วรรคต่อวรรคทุกครั้งครับ
ว่าแต่ แปลกใจบ้างไหมครับ พระพุทธเจ้าบอกว่า ห้ามยึด ให้ละ แต่......ทำไมเราต้องยึดมั่น หรือเชื่อธรรมะและหลักปฏิบัติที่พระพุทธเจ้านำมาสอน หรือ ทำไมเราต้องยึดมั่นกับการรักษาศีล ทำสมาธิ ฝึกสติ เจริญปัญญาด้วยล่ะ ไหนบอกไม่ให้ยึดไง แต่นี่ก็ยึดอยู่ดี
ปุจฉา : ในเมื่อพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึด แล้วทำไมเราถึงต้อง "ยึดมั่นคำสอนของพระพุทธองค์" ล่ะ มันย้อนแย้งกันเองไหม?
Comments