top of page

มารู้จัก ศีลข้อที่ 1 ตามความเป็นจริงกัน (Sila 2/11)

  • igqsan
  • Apr 13, 2022
  • 3 min read

Updated: Jun 12, 2022

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ตอนที่ 2 ของบทความครับ ตอนนี้เราจะมาเล่า ทำความเข้าใจ แจกแจง ศีลข้อ 1 กันครับ


อย่างที่ทราบกันว่า ศีลข้อ 1 คือ "ปาณาติปาตาเวรมณี" ซึ่ง เราแปลกันให้ท่องแบบง่าย ๆ กันทั้งประเทศว่า "งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต" แต่.....เคยมีใครตั้งคำถามไหมครับว่า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำไมถึงผิดศีล?ผิดเพราะอะไร?แล้วสุดท้ายเราจะกลับเข้าสู่ลูปดีเฟนด์ตัวเอง ว่า ทำแบบนี้ ผิดนะ ไม่ผิดนะ มีเจตนานะ ไม่มีเจตนานะ ต้องประกอบด้วยอะไรบ้างถึงผิด .....แล้วทำไมเราถึงพิจารณาด้วยตัวเองไม่ได้ว่าศีลข้อ 1 จริง ๆ คืออะไร?ต้องการให้เราระวังอะไร ส่วนตัวที่จะบอกเราว่า "บ่วงเกิดขึ้นหรือยัง นั่นคือ "สติของเราเอง" ครับ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาตัดสินหรือเปิดตำราอ้างอิงหรอกครับ


ปุจฉา: จุดประสงค์ของศีลข้อ 1 คือ


วิสัชนา: จุดประสงค์ของศีลข้อที่ 1 คือ ให้พึงระวังการสร้างบ่วงด้วยการกระทำทางกาย อันจะสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตได้ โดยเจตนา


เพื่อประกอบความเข้าใจ ผมขออธิบายยกตัวอย่างให้เห็นภาพดีกว่าครับ


สมมติง่าย ๆ เราทำยุงตาย ขอใช้คำว่า "ทำ" เพื่อให้เป็นคำกลาง คนมักชอบถามว่า บาปไหม?อย่างที่บอกว่า ลืมมันไปซะคำนี้ แต่ให้พิจารณาที่บ่วงแทน


ถามว่า



ตอนทำยุงตาย มีความคิด ความรู้สึกอยากฆ่าขึ้นมาหรือเปล่า อยากให้เขาตายไหม

ถ้ามี แม้แต่เพียงแวบเดียวนิดเดียว นั่นก็คือ บ่วงเกิดขึ้นแล้ว




ถ้าเรามีจิตเจตนาที่จะสังหารชีวิตเขา นั่นคือ บ่วงเกิดขึ้นแน่นอนในฝั่งเรา แต่ถ้าไม่ตั้งใจ บ่วงฝั่งเรา ก็ไม่มีอะไรที่เป็น "บ่วงด้านลบ" คือ ไม่มี โมหะ โทสะ โมหะ เข้ามาเกี่ยวข้อง การกระทำนั้น ถือเป็น "กิริยา" คือเป็นการกระทำที่ไม่มีผลอะไร กับตัวเรา คือไม่ได้สร้างบ่วงอะไรกับเรา


แต่....มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะไม่ได้หมายความว่า ยุงจะให้อภัยเราและไม่มีบ่วง อุปมาเหมือนเราเหยียบเท้าคนอื่น คนอื่นจะโกรธเรา เราก็ควบคุมไม่ได้ คนอื่นจะไม่ให้อภัยเรา เราก็ควบคุมไม่ได้ นี่เป็นบ่วงอีกบ่วงที่คนเราลืมคิด เรามองแค่ตัวเรา ไม่ได้มองจากฝั่งเขา


ดังนั้น เราไม่สามารถควบคุมได้ว่า บ่วงฝั่งยุงจะเกิดไหม ถ้าเกิดเขาไม่อภัยให้เรา บ่วงจะเกิดค้างอยู่อย่างนั้น จองเวรกันแบบนั้น จนกว่าฝั่งเขาจะอโหสิกรรมให้


เหตุนี้ บ่วงที่ควรเลี่ยงสร้างที่สุด คือ บ่วงลบที่เกิดกับคนอื่น หรือ บ่วงที่ทำให้คนอื่นเกิด โลภะ โทสะ โมหะ หรือ นิวรณ์ ในจิตและใจ โดยที่เราเป็นคนทำ เพราะเราควบคุมไม่ได้เลย ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า "อนัตตา"

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้น ในสมัยพุทธกาล มีพระอรหันต์ที่ตาบอด เดินเหยียบอะไรตายประจำ มีคนไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า บอก พระอรหันต์ทำปาณาติบาต แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า นั่นเป็นเพียงกิริยา นั่นคือ ตัวพระอรหันต์ ไม่มีแล้ว ซึ่งโลภะ โทสะ โมหะ และจิตเจตนา ดังนั้นจึงเป็นเพียงกิริยา


แต่บ่วงที่พระอรหันต์เหยียบสิ่งมีชีวิตนั้น จะยังคงอยู่ และ ต้องรับผลของบ่วงนั้นอยู่ตราบใดที่พระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อตายหรือที่เรียกว่า "นิพพาน" แล้ว จึงเป็นศูนย์ เพราะตัวเราตัดบ่วงทุกอย่างทิ้งแล้ว เหมือน เอาวัตถุอะไรก็ตามมาโยนใส่ สิ่งที่ดับสูญไม่มีตัวตน มันก็ไม่มีไม่มีอยู่วันยังค่ำ คือ จองเวรกับความว่างเปล่าไม่ได้ ไม่มีเหลือแม้กระทั่งใจเลย เปรียบง่าย ๆ หาลูกหนี้ไม่เจอ แล้วเจ้าหนี้จะเอาคืนกับใคร


ปุจฉา: ว่าแต่ "ฆ่ายุงตาย" กับ "ฆ่าคนตาย" อย่างไหนบาปกว่ากัน?


วิสัชนา: เป็นคำถามที่ถามกันมาก และ มีคำตอบที่หลากหลายมาก และส่วนใหญ่ไปทางว่า "บาปไม่เท่ากัน" บางท่าน อ้างว่า "คุณค่าของสัตว์ไม่เท่ากัน" บางท่านอ้างว่า " แบ่งตามศีล ศีลมาก บาปมาก ศีลน้อยบาปน้อย" ส่วนในการสอนศีล 5 ที่ญี่ปุ่น ก็บอกว่า "แบ่งตามขนาดสัตว์ สัตว์เล็กบาปน้อย สัตว์ใหญ่บาปมาก" แล้วตกลงมันยังไงกันแน่


ดูก่อนครับทุกท่าน หากบอกว่า คุณค่าของสัตว์ไม่เท่ากัน แล้วใครเป็นคนกำหนดหรือครับ ว่า สิ่งมีชีวิตนั้นมีคุณค่ามากหรือน้อย? แล้วเขากำหนดโดยใช้อะไรเป็นมาตราฐานเปรียบเทียบครับ?เช่น ถ้าคุณบอกว่า คนคนนี้ไม่มีประโยชน์ต่อบริษัท นั่นหมายความว่า ความรู้ความสามารถของคนคนนี้ไม่เหมาะกับนโยบายองค์กรตอนนี้ ไม่คุ้มกับเงินเดือนที่จ่ายให้ มาตราฐานเปรียบเทียบ คือ นโยบายและทิศทางองค์กรครับ


คำถาม คือว่า นโยบาย หรือ สิ่งที่กำหนดนั้น กำหนดมาจากอะไรครับ......ใช่คนเราเป็นคนกำหนดไหมครับ? ....เมื่อคนเราเป็นคนกำหนด มันจึงไม่ใช่ความจริงตามธรรมชาติ เมื่อไม่ใช่ความจริงตามธรรมชาติ มันจึงเป็นเพียง "อัตตา" ครับ


และในที่นี้ ผู้ที่กำหนดคุณค่ามาตราฐานของสิ่งมีชีวิตอื่นนั้น คือ "คน" ครับ เมื่อผู้กำหนดเป็น "คน" มันจึงเป็นเพียง "อัตตาของคน" เป็นเพียง "สมมติกฎ" ครับ ไม่ใช่ "สัจกฎ" เพราะสามารถมีความลำเอียงเข้าข้างตัวเองเกิดขึ้นได้ตามสัจกฎ "จะมากจะน้อยสิ่งมีชีวิตย่อมรักตัวเองที่สุดเสมอ" และ ตกอยู่ภายใต้ "ความไม่เที่ยง" ซึ่งสั้นกว่า "สัจกฎ"ทันที เช่นเดียวกับกฎหมาย หรือ สมมติกฎอื่น ๆ บนโลก และเมื่อไม่เที่ยงย่อมไม่ควรยึด ซึ่งจะต่างกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าใช้สอน ที่พระองค์ท่านจะสอนให้เห็น "สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง" เพราะเป็น "สิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ เป็นความจริง ที่ตราบใดยังมีสัตว์โลก ก็จะยังเกิดสิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ และพิสูจน์ได้ไม่จำกัดกาล" ผมจึงขอเรียกด้วยศัพท์ที่ง่ายขึ้นว่า "สัจกฎ" (มาจากคำว่า "สัจธรรม" ของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนคำเพื่อล้อกับคำว่า "สมมติกฎ" ที่มักใช้กับ กฎหมายและ กฎต่าง ๆ )


การทำยุงตาย 1 ตัว กับการทำคนตาย 1 คน เกิดบ่วง "เท่ากัน" ครับ


เหตุที่เท่ากัน เพราะ คือ "จิตใจ 1 ดวง" เหมือนกันครับ มีอำนาจ สิทธิ และ กำลัง ในการสร้างบ่วงเท่ากันครับ ผมขอให้ลองพิจารณา คิดตามดังนี้ครับ


ร่างกาย เปรียบเสมือนภาชนะ ( เพราะ รูป นาม แยกกัน อันนี้เป็นความจริงสามารถพิสูจฯืให้เห็นจริงได้ทุกคนด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา) "จิตใจ" นั้นเปลี่ยนที่อยู่ไปตามร่างกายอยู่เรื่อย ๆ ตามภพภูมิที่เปลี่ยนไป แล้ว คนเราสามารถไปเกิดเป็นยุงได้หรือไม่?คำตอบ คือ ได้ครับ ถ้าจิตก่อนตาย เป็น อกุศล เช่น ตอนกำลังจะตาย เกิดรำคาญยุงที่บินไปมา ตอนจุติ จะไปเกิดเป็นยุงทันทีครับ


อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลยครับ แม้ พระผู้มีอภิญญา ไปเกิดเป็นแมลง เพราะจิตก่อนตายก็ยังมี


ฉะน้้น การที่มีคนบอกว่า ทำคนศีลมากกว่าตายบาปมากกว่า ถ้าจะเอาศีลมาเทียบ งั้น ถ้าเราทำพระที่มีอภิญญาไปเกิดเป็นยุงตาย ก็บาปหนักหนาสาหัสกว่ายุงธรรมดาเลยสิครับ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่ายุงนั้นอะไรมาเกิด?คนธรรมดาไม่มีอภิญญาไม่สามารถทราบได้หรอกครับ


อีกทั้งถ้าลองไล่ลำดับสภาวะจิตตอนถูกฆ่า ทั้งยุง ทั้งคน บ่วงที่เกิดขึ้นไม่ต่างกันเลย ในกระบวนการก็เหมือนกัน (จะไปกระจายย่อยให้เห็นภาพอีกครั้งในหัวข้อถัด ๆ ไป) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า


"การทำยุงตาย 1 ตัว ไม่ต่างกันกับ การทำคนตาย 1 คน" หรือ ในทางกลับกัน ถ้าเราลองกลับสมการจะได้ว่า " การทำคนตาย 1 คน เทียบเท่ากับการทำยุงตาย 1 ตัว" หรือ "ชีวิตคนมีค่าเท่ากับยุง"


เหตุที่ผมต้อง" จงใจ" ตั้งสมการนี้ขึ้นก็เพื่อจะอธิบายความให้เห็นภาพใน 2 ประเด็นครับ 1. การบอกว่า "การทำลายสัตว์เล็กนั้นไม่เป็นไร" ถือเป็นคำพูดที่เป็นการเห็นผิด ที่เป็นการเห็นผิด นอกเหนือจากจะผิดไปจากบ่วงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแล้ว การคิดแบบนี้ ยังเป็นเหตุแห่งความประมาทด้วย


2. เพื่อแสดงให้เห็นถึง "อัตตา" ที่ซ่อนอยู่ตัวคนเรา แต่เป็นสิ่งที่คนเรานั้น มักไม่รู้ตัว ล้วมองไม่เห็น เหมือนตัวตุ่นที่อยู่ในดิน ถ้าไม่ทำให้มันออกมาให้เห็น ก็ไม่มีทางรู้


ลองสังเกตประโยค "ชีวิตคนมีค่าเท่ากับยุง" นะครับ รู้สึกอะไรแปลก ๆ ในใจไหมครับ? รู้สึกว่ามันไม่ใช่ไหมครับ? ตัวเราเป็นคนมันจะไปเท่ากับยุงได้ไง เราต้องมีค่ามากกว่าสิ .....ถ้ารู้สึก ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ว่า คุณรู้สึกได้ถึง "อัตตา" ของคุณแล้วครับ


ทำไมเราถึงรู้สึกแปลก ๆ กับคำพูดนี้ครับ รู้สึกว่ารับไม่ได้ใช่ไหมครับ เหตุเพราะว่า "เราเป็นคน" ครับ จึงมีความรู้สึก "เหยียด" สัตว์อื่นโดยธรรมชาติครับ


การเหยียด หรือ Racism เป็นหนึ่งสิ่งที่สัตว์โลกทุกชนิดมีโดยธรรมชาติ เพราะมี การเหยียด จึงทำให้มีการแบ่งฝ่าย แบ่งพวก แบ่งกลุ่มในสัตว์โลกทุกชนิด และ ไม่มีวันทำให้หมดไปได้

สิ่งที่ให้กำเนิดการเหยียด หรือ เหตุในการเกิดการเหยียดมาจากสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา"(ความมีตัวมีตน) ครับ ซึ่งภายใต้ซับเซตของอัตตามีสิ่งที่เรียกว่า "ทิฐิ (ความเห็นของตัวเอง) และ มานะ (การคิดว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น)" อยู่ 2 ตัวนี้ คือ เหตุที่ทำให้เกิด "การเหยียด" ครับ


ผมขออนุญาตอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น จากสิ่งที่ได้ยกมาแล้วครับ "ทำไมเราถึงรู้สึกรับไม่ได้ พอบอกว่า คนมีค่าเทียบเท่ายุง"?


ผมอธิบายไว้ว่า "เพราะเราเป็นคน" ใช่ไหมครับ



เพราะเราเป็นคน ที่เผอิญอยู่ในจุดสูงสุดของบ่วงโซ่อาหาร เราเลยมองสัตว์อื่นต่ำกว่าเราโดยธรรมชาติ (เหตุเพราะ "มานะ" ในตัว และส่งเสริมด้วย การไม่ค่อยได้ถูกล่าในการใช้ชีวิต จึงไม่รู้สึกถึงความต่ำต้อย)




พอผมจงใจใช้คำพูดกลับกัน เราเลยรู้สึกรับไม่ได้ เพราะมันขัดแย้งกันกับอัตตาในตัวเราที่สั่งสมและชินมาจากการเป็นผู้อยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่กลับถูกเอาไปเทียบเท่าสัตว์ที่ต้อยต่ำกว่า ด้วยเหตุนี้เอง คนเราจึงสามารถฆ่าสัตว์ที่ต่ำกว่าได้โดยไม่รู้สึกผิดอะไร เช่น หากเกิดโรคระบาดในสัตว์ เราสามารถตัดสินใจฆ่าสัตว์เหล่านั้นให้ตายได้ทันที แต่ในทางกลับกัน หากเกิดโรคระบาดในคน เราไม่สามารถตัดสินใจฆ่าคนได้ทันทีเหมือนสัตว์ มันเพราะอะไรครับ?


บางท่านอาจจะตอบว่า "เพราะคนเราเป็นสัตว์ประเสริฐ" ซึ่งต่างกับสัตว์ธรรมดาทั่วไป


ปุจฉา:คนเป็นสัตว์ประเสริฐจริงหรือ?


วิสัชนา:เหตุที่เราบัญญัติไว้ว่าคนเราเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เพราะร่างกายของ "สัตว์ที่เรียกว่า คน" นั้นมีความสามารถในการพัฒนาเรียนรู้ยกระดับจิตใจได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่นครับ แต่......เพียงแค่เกิดเป็นคนก็ถือว่าสูงกว่าสัตว์อื่นแล้วหรือครับ?


หากเราลองไล่เรียง ลำดับการเกิดของสิ่งต่าง ๆ ในสภาวะจิตใจ แล้วลองเปรียบเทียบกัน จะพบว่า "คนเราโดยทั่วไปนั้นมีสภาพไม่ต่างกับสัตว์โลกอื่น ๆ เลย" กล่าวคือ เคลื่อนไหวตามธรรมชาติความเคยชิน, ไม่มีสติสัมปชัญญะ, ถูกเร้าโดยกิเลส และ นิวรณ์ โดยไม่รู้ตัวตลอดเวลาเหมือนกัน


จึงสรุปได้ว่า คนเราโดยทั่วไป หากไม่มีการทำอะไร หรือ โดย default คนเราจะมีค่าเทียบเท่าไม่ต่างกับสัตว์ ต่อเมื่อมีการฝึกแล้ว จึงจะมีการพัฒนาขึ้นมาได้ เช่นนี้ คนเราจึงมีการพัฒนาระบบการศึกษา และ สร้างสิ่งที่เรียกว่า ประเพณี วัฒนธรรม ขึ้นมา เพื่อตอบสนองอัตตาตัวเองว่า ตัวเองเป็นคนมี "อารยะ" ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น และรวมถึง ต่างจากสัตว์ที่เรียกว่า "คน" อื่น ๆ ด้วยกัน แต่คำถามคือว่า สิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่สร้างขึ้นมานั้น มันถูกต้องแล้วจริงหรือ?


เพราะหากสิ่งที่สร้างมานั้น สร้างมาจาก "อัตตา" ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็เป็นเพียง "สิ่งสมมติ" ที่สร้างขึ้นมาจากความหลง แล้วรอวันดับสูญ แต่ ถ้าเราสร้างมันมาจากความจริงที่พิสูจน์ได้ตลอดกาล มันก็ยังมีความรู้แจ้ง และ ยาวนานมากกว่า (ผมใช้คำว่ามีความยาวนานมากกว่า เพราะสุดท้ายมันก็ยังสามารถดับได้ เมื่อในช่วงเวลานั้น ไม่มีผู้มีปัญญามากพอที่จะเห็นธรรมแล้วเอามาอธิบายต่อได้ เช่น ยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้า หรือคนที่รู้ หรือ เข้าใจคำสอนพระพุทธเจ้าเหลือเลย ก็จะดับไป จนกว่าจะมีคนที่เห็นธรรม หรือพระพุทธเจ้าใหม่ ก็จะเกิดขึ้นมาอีก)


.

.

.

.

.

.

ประเด็นต่อไป ที่ผมจะเล่า เป็นประเด็นที่ยากมาก เพราะ "การแยกแยะว่า อย่างไหน คือ "สัจกฎ" อย่างไหน คือ "สมมติกฎ" เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เนื่องจากว่า คนเราตั้งแต่เกิดมา เราถูกสั่งสอนทั้ง สมมติกฎ และ สัจกฎ จนปนเปกันไปหมด เมื่อปนเปกัน เราเลยมีสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นเยอะแยะมากไปหมด จนใจเราหนัก และ ไม่รู้ว่าจะแยกมันออกยังไง (เวลาเราจัดห้อง เรายังแยกแยะของสำคัญไม่สำคัญมาทิ้ง แล้วทำไม เราถึงไม่แยกแยะ ของสำคัญ ไม่สำคัญกับจิตใจเพื่อให้ใจเบาลง)


ผมขอเล่าตัวอย่าง สิ่งที่ทำให้ใจเราหนักโดยไม่จำเป็น ให้ฟังสักตัวอย่างนะครับ


ตั้งแต่เกิดมา เราได้รับการสั่งสอนจากโลก รวมถึงมีการเรียกร้องให้โลกนี้ ไม่มีการเหยียด ให้โลกนี้มีความเท่าเทียม ให้โลกนี้มีความยุติธรรม (ระหว่างคนด้วยกันเอง) ถูกต้องไหมครับ? ผมขอเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "สิ่งที่โลกต้องการให้เป็น"

หนึ่งในวิธีการที่เราใช้ เพื่อให้ได้สิ่งที่โลกต้องการให้เป็นนั้น คือ "กฎหมาย"หรือ "ข้อตกลง" ครับ โดยเราพยายามสรา้งกฎ หรือ ข้อตกลงต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อกำนดพฤติกรรม ว่า สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ ถ้าทำสิ่งที่โลกไม่ต้องการจะมีบทลงโทษอย่างไร


แต่เราลืมไปว่า "กฎนั้น จะสัมฤทธิ์ผลได้ จะต้องเกิดจากการตกลงยินยอมพร้อมใจของทุกผู้มีส่วนได้เสียในกฎนั้น" ซึ่งในความเป็นจริง ไม่สามารถทำได้หรอกครับ ยิ่งมีคนมากยิ่งทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ หรือปฏิบัติอะไรไปในแนวทางเดียวกันได้


แล้วถ้าเราจะพยายามทำให้ได้ล่ะ งั้นลองมาคิดให้ลึกขึ้น ว่า "อะไรทำให้เกิดการเหยียด?" เมื่อลองวิเคราะห์กลับไปถึงต้นตอของการเหยียด ก็จะพบว่า

การแบ่งฝั่งฝ่าย การถือตัว ความชอบ ไม่ชอบ อันทำให้เกิดการเหยียดนั้นเกิดจาก "อัตตา" ทั้งสิ้น ซึ่งผู้ที่สามารถละสิ่งเหล่านี้ได้มีแต่ "พระอรหันต์" เท่านั้น....ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้อีกเช่นกันที่จะทำให้คนทั้งโลกเป็นพระอรหันต์

ดังนั้นสิ่งที่โลกอยากให้เราเป็น คือ การให้เรา"วุ่นวาย" กับการพยายาม "ทำสิ่งที่เป็นไม่ได้ให้เป็นไปได้ " พยายามควบคุม" สิ่งที่ควบคุมไม่ได้" ให้ "ควบคุมได้" พอทำไม่ได้ ก็เป็น "ทุกข์"


เหตุนี้พระพุทธเจ้า จึงให้ดับทุกข์ที่ใจเรา พระองค์ท่านไม่ได้สอนให้เราไปควบคุมคนอื่น ไม่ให้มาทำให้เราทุกข์

อาจารย์ผมท่านหนึ่ง ท่านสอนผมไว้ว่า


คน แปลว่า "วุ่นวาย" เพราะเป็นคนจึงยังต้องวุ่นวาย (ในการดิ้นรนตามกิเลส แและนิวรณ์ เหตุเพราะ ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นธรรม)
คนที่ "ใฝ่ธรรม" แล้ว เราเรียกว่า มนุษย์
มนุษย์ที่ "ไม่เห็นผิดในธรรม" แล้ว เรียกว่า อริยะ

แม้มันจะเป็นการแบ่งแยก หรือ Classified อย่างหนึ่ง แต่เป็นการแบ่งโดยใช้สภาวะจิตตามความเป็นจริงเป็นตัววัด เพราะการแบ่งนี้ จะทำให้เรารู้ตำแหน่งปัจจุบัน และรู้ว่าเราควรเดินไปทางไหนครับ


และด้วยเหตุที่ว่า การเหยียดนั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์โลก ดังนั้น

เราจึงไม่สามารถ ทำให้คนไม่เหยียดกัน หรือ สร้างความเท่าเทียม ยุติธรรม ได้ด้วยกฎใด ๆ บนโลกใบนี้ได้ แต่ เราสามารถ "ลด" การเหยียด และ ความเหลื่อมล้ำจากความไม่ยุติธรรมโดยธรรมชาติ ได้โดยการ "เปลี่ยนคนให้เป็นมนุษย์" ด้วยการเจริญ "เมตตา" ครับ ......นี่เป็นวิธีการเดียวครับ วิธีอื่นไม่มีอีกแล้วครับ

.

.

.

พอจะเห็นภาพความหนักของการเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ควบคุมไม่ได้ แต่เราพยายามควบคุมมันจนมาทำให้ใจเราหนักแล้วเป็นทุกข์ มากขึ้นไหมครับ งั้นผมขออนุญาตอธิบายอีกสักตัวอย่างนะครับ นั่นคือ สิ่งที่โลกเราสร้างขึ้นมาที่เรีกว่า "กฎ" หรือ "สมมติกฎ"นั้น หากมันเป็นการฝืนธรรมชาติ และ มันทำไม่ได้จริง แล้วโลกเรามีกฎมาเพื่ออะไร?


ปุจฉา:งั้นถ้ากฎหมายมันใช้ไม่ได้ แล้วโลกเราสร้างกฎหมายมาเพื่ออะไร Click to continue >>


Comments


© 2021 by 19room Proudly created with Wix.com

bottom of page