top of page

บทส่งท้าย: พระพุทธเจ้าอธิบายศีล 5 อย่างไร?(Sila10/11)

  • igqsan
  • Apr 16, 2022
  • 2 min read

ปุจฉา : ในเมื่อพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึด แล้วทำไมเราถึงต้อง "ยึดมั่นคำสอนของพระพุทธองค์" ล่ะ มันย้อนแย้งกันเองไหม?


วิสัชนา: เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์โลกนั้น ไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีหลักยึดไม่ได้ครับ เรามีหลักยึดอันใดอันหนึ่งเสมอ แค่เราไม่รู้ตัวเท่านั้น


สมมติว่า เราใช้ชีวิตแบบไม่มีสติ ใช้ชีวิตตามกิเลส วิ่งไล่ตามความสุขจากการสนองกิเลส เราก็มีหลักยึด คือ "การหาความสุขจากการสนองกิเลส" ครับ ดังนั้นการพิจารณาหลักยึด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ผมถึงได้พยายามเน้นตลอดว่า ให้ "พิจารณาหลักยึดตามหลักความเป็นจริง" ไม่ใช่หลักยึดที่มาจาก "อัตตา" เพราะนั่นไม่เที่่ยง


แต่ถามว่า หลักยึดของพระพุทธเจ้านั้นจะต้องยึดตลอดไหม คำตอบคือ เราจะปล่อยหลักยึดของพระพุทธเจ้าทิ้ง ต่อเมื่อ บรรลุ "อรหันต์" ครับ แต่การที่ปล่อยหลักยึดนั้น ไม่ใช่ว่า เราจะกลับไปวิ่งไล่ตามกิเลส หรือ นิวรณ์ แต่เพราะเราไกลจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว สิ่งเหล่านั้น ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว เราจึงปล่อยหลักยึดนั้นทิ้ง





เปรียบเหมือน เรือที่ล่องกลางมหาสมุทร ตอนยังไม่ถึงฝั่งเราก็ต้องยึดเรือนั้นไว้ แต่เมื่อถึงฝั่งแล้ว เราก็ต้องละจากเรือ ฉันใดก็ฉันนั้น





ในทางการปฏิบัติก็เช่นกัน "ใจ" หรือ "จิตผู้รู้" คือ สิ่งสุดท้ายที่ต้องละ ก่อนจะบรรลุ "อรหันต์" แต่...ถ้าเกิดอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า หรือ พูดง่าย ๆ สติ ศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่พร้อม แล้วไปละมัน ผลที่เกิดขึ้น คือ "เสียสติ" หรือ "บ้า" ครับ เปรียบง่าย ๆ คือ โดดลงจากเรือทั้งที่อยู่กลางมหาสมุทร


เช่นเดียวกันกับหลักที่ใช้ในการอธิบายศีล 5 ตลอดทั้งบทความนี้ จะสังเกตว่า สิ่งที่ผมใช้อธิบาย ล้วนอยู่นอกเหนือ "การแปลตามตัวอักษร" ซึ่งเป็นการกระทำสามัญของโลกทั้งสิ้น แต่ใช้การจำแนกแยกแยะ "สภาวะจิต" ที่เกิดตามความเป็นจริงของศีลเหล่านั้น แล้วอธิบายให้เห็นภาพแทน พร้อมชี้ให้เห็นถึงเหตุที่ต้องทำ


นอกจากนี้ยังเป็นการพาตัวเองออกจาก บ่วงของ "สัญญา" ด้วย เพราะ"สัญญา" เป็นสิ่งสมมติ เป็นของไม่เที่ยง เราจึงไม่ควรอ้างอิง หรือ ถกเถียงกันด้วย "สัญญา" โดยยึดเอา สิ่งที่เราเรียนรู้จากโลก ว่า มันหมายความว่าแบบนี้ นิยามว่าแบบนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของไม่เที่ยง สมมติ คุณตายแล้วไปเกิดใหม่ในโลกที่เรียก สิ่งที่คล้ายแตงโมในปัจจุบันว่า ส้ม และเรียกสิ่งที่คล้ายส้มในปัจจุบันว่า แตงโม คุณก็ต้องเปลี่ยนคำเรียกแล้ว มันก็ไม่เที่ยงแล้วจริงไหมครับ


ดังนั้น เราจึงไม่ควรจำว่า โลภะ แปลว่าแบบนี้ โมหะ แปลว่าแบบนี้ โทสะ แปลว่า แบบนี้ แต่ให้รับรู้ด้วยความรู้สึกแทน ว่า อาการมีโลภะ มีอาการแบบนี้ ต่อให้ สัญญามันจะเปลี่ยนไปเรียก โลภะ ว่า เป็นโทสะ แต่อาการของโลภะ มันก็เหมือนเดิม เหมือนเรา จำ บุคลิก หน้าตา ท่าทาง นิสัยคน แทนที่จะจำชื่อ ต่อให้คนนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นร้อยครั้ง มันก็ยังเหมือนเดิม


นี่จึงเรียกว่า เป็นไปเพื่อการละตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


ส่วนท่านจะเชื่อที่ผมอธิบายหรือไม่นั้น ผมขอให้เป็นการพิจารณาด้วยปัญญาของท่านเอง และเช่นเคย ผมขอท้าให้ท่านพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่ เพราะ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ทนทานต่อการพิสูจน์ทุกยุคทุกสมัย


ปุจฉา: แล้วพระพุทธเจ้าทรงอธิบาย "ศีล 5 " ไว้ว่าอย่างไร?

.

วิสัชนา: พระพุทธเจ้านั้น ไม่เคยให้ใครสมาทานศีล 5 หรือ รับศีล เพราะพระองค์ไม่เคยเน้น พิธีกรรม แต่ พระองค์ทรงกล่าวว่า นี่คือ "เวรภัย 5 ประการ" ที่ควรงดเว้น

.

ใน เวรสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ได้เล่าไว้ว่า


ครั้งหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า


"บุุคคลใดที่ไม่ละเวรภัย 5 ประการ อันได้แก่ การฆ่าสัตว์ การเอาของที่เขาไม่ได้ให้ การคบชู้ภรรยาผู้อื่น การกล่าวคำเท็จ การดื่มสุราอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ผู้ที่ละเวรภัยทั้ง 5 ประการนี้ไม่ได้ เราเรียกว่า "ผู้ทุศีล" ย่อมประสบภัยเวรภัยในกาลปัจจุบัน และ มีทุคติเป็นที่ไป ส่วนผู้ที่ละเวรภัยทั้ง 5 ประการนี้ได้ เราเรียกว่า "ผู้มีศีล" ย่อมไม่เสวยทุกข์ในภัยเวรนั้นในกาลปัจจุบัน และมีสุคติเป็นที่ไป"

สังเกตไหมครับ พระพุทธเจ้าไม่ได้ออกปากว่าเป็น "กฎ" แต่เป็นแค่หนึ่งในสัญญาที่ใช้เรียก "ผู้ที่ละเวรภัยทั้ง 5" ได้ เท่านั้นครับ จึงเรียกว่า "ผู้มีศีล" ไม่ใช่ "ตั้งศีลเป็นกฎขึ้นมาเพื่อให้รักษา" แบบ "กฎหมาย"


นอกจากนี้แล้ว พระองค์ท่านก็ยังใช้คำว่า มีศีล ในการแสดงธรรมอื่น ๆ อีกมากมากมาย เรียกรวม ๆ ว่า "ศีลสัมปทา" หรือ "ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล"


อีกตอนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ใน ปุญญาภิสันทสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมแก่พระภิกษุ ถึงเรื่องห้วงบุญกุศล 8 ประการ โดยพระพุทธเจ้าได้ยก "มหาทาน 5 ประการ" อันเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของที่ผู้ซึ่งเป็นบัณฑิตไม่รังเกียจ เป็นสิ่งที่อริยสาวก (สาวกผู้เป็นอริยะ) พึงบำเพ็ญ เป็น 5 ข้อในห้วงบุญกุศล 8 ประการ


ซึ่งมหาทาน 5 ประการนี้ ได้แก่ ละปาณาติบาต, ละอทินนาทาน, ละกาเมสุมิจฉาจาร, ละมุสาวาท, ละการดื่มน้ำเมา

เห็นไหมครับ พระองค์ท่านไม่ได้กำหนดเป็นกฎ แต่บอกว่า เป็น "ทาน" เป็นสิ่งที่ผู้เป็นอริยะพึงบำเพ็ญ เพราะหากไม่ทำแล้วจะถึงความเป็นอริยะไม่ได้ เหตุที่ถึงความเป็นอริยะไม่ได้ เพราะละเวรภัยที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้นไม่ได้


ดังนั้น อย่าได้แปลว่า "ศีล = กฎ" เพราะนั่นคือการเห็นผิดครับ


การที่พระพทุธเจ้าไม่ทรงออกเป็น "กฎ" หรือ "ข้อห้าม" เลย เพราะธรรมชาติของสัตว์โลก "ที่ต้องการความอิสระ" โดยธรรมชาติ หากไปบังคับฝืนใจย่อมจะมีแต่ทำให้สัตว์โลกนั้นขัดขืนก็เท่านั้น เหตุนี้พระองค์จึงใช้วิธีการ แสดงให้เห็นคุณประโยชน์ของการรักษาศีล 5 และ โทษของการไม่รักษาศีล 5 ว่าสิ่งนั้นจะเกิดคุณประโยชน์กับตัวผู้กระทำเอง


เมื่อคนเรายอมรับในเหตุผลด้วยปัญญาแล้วว่า การทำสิ่งนั้น เกิดผลดีกับตัวเองมากกว่าการไม่ทำ ก็จะไม่ทำสิ่งนั้น ตามกฎธรรมชาติ "คนเราย่อมรักตัวเองที่สุดเสมอ" และก็จะรักษาศีล 5 ด้วยความเต็มใจเอง


แต่ถ้าหากบุคคลใด ไม่รักษาศีล 5 ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ เขายังเป็นผู้ที่ยังไม่เห็นโทษของการไม่รักษาศีล 5 ยังสัมผัสไม่ได้ถึงเวรภัยที่เกิดจากมันก็เท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถทำให้ทุกคนรักษาศีลได้ ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังทำไม่ได้


เราจึงไม่ควรสนใจเวลาคนอื่นไม่รักษาศีล แต่สนใจแค่ตัวเราเองก็พอแล้ว


อนึ่ง สำหรับ ศีล 8 หรือ ศีลอุโบสถนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าว ไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สังขิตตสูตร ไว้ว่า เป็นธรรมสำหรับ พระอรหันต์ คือ พระอรหันต์ จำเป็นต้องบำเพ็ญ เป็น ความประพฤติโดยสามัญของเทวดาในชั้นพรหม


ซึ่งได้มีการเปลี่ยนเนื้อหาในศีลข้อ3 จากเดิมที่แค่ ไม่ไปแย่งคู่ครองเขา มาเป็น ไม่เสพเมถุนทั้งปวง ตั้งแต่การเสพสังวาส แม้แต่การช่วยตัวเองก็ไม่พึงทำ ตามที่ผมได้อธิบายไว้ก่อนหน้าแล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สนับสนุนการมีสามี หรือ ภรรยา


คิดง่าย ๆ ว่า แต่งงานแล้ว ไม่มีอะไรกันเลย จะมีสักกี่คู่ที่ไปรอด เว้นแต่ ทั้ง 2 ฝั่งนั้น ไม่เคยได้ลิ้มรสความสุขของการเสพกามราคะ ก็อาจเป็นไปได้ แต่ถ้าผู้ที่ได้ลิ้มรสแล้ว ก็ยากที่จะรอด เว้นแต่ ผู้นั้นจะฝึกสติจนสามารถหลุดออกจาก "ความสุขของกามราคะ" ได้เท่านั้น


ในส่วน 3 ข้อที่เหลือ คือ ทานอาหาร 1 มื้อ เว้นจากการนอนที่สูง เว้นจากการเสพความบันเทิงทั้งปวง


หวังว่าสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดคงพอเป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมขอฝากไว้ว่า


"ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้มีศีล 5 หรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ขอให้ท่านพิจารณาด้วยปัญญาของท่านเองว่า
ปัจจุบันท่านกำลังใช้ชีวิตโดยความประมาท โดยใช้เพื่อทำทุกอย่างให้ชีวิตมีความสุขไปจนถึงวันตาย โดยคิดแค่เพียงว่า ตายแล้วก็จบหรือไม่?
ท่านเห็นภัยของการเกิดที่กำลังกล้ำกรายท่านทุกวันหรือไม่?"
"วันคืนล่วงไป ล่วงไป บัดนี้ท่านทำอะไรอยู่"

Comentários


© 2021 by 19room Proudly created with Wix.com

bottom of page