top of page

จะรู้ได้ยังไงว่าคนนี้เป็น Soul Mate หรือ คู่แท้ของเรา?(Sila6/11)

  • igqsan
  • Apr 15, 2022
  • 3 min read

Updated: Jul 17, 2022

ปุจฉา:แล้วแบบนี้ คู่แท้ หรือ soul mate มีจริงไหม? จะรู้ได้ยังไงว่าคนนี้เป็นคู่แท้ของเรา?


วิสัชนา: อย่างที่บอกครับว่า "พระพุทธเจ้าไม่ได้สนับสนุนให้มี สามี กรรยา และบุตร" หากเราสามารถตัดบ่วงสามี ภรรยา และบุตรทิ้งได้ ถือเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นบุญโดยแท้ แต่ถ้าเรายังต้องวนเวียนในสังสารวัฏ ยังเป็นผู้เสพกาม แน่นอนครับ ผมมั่นใจว่าทุกคนคงไม่อยากแต่งงานหรือมีแฟนแล้วมานั่งทะเลาะกับแฟนทุกวัน ต้องระแวงว่าเขาจะไปมีคนอื่นไหม จะไปมีลูกกับคนอื่น แล้วมาสวมเขาว่า เป็นลูกท่านให้เราเลี้ยงไหม เห็นเราเป็นแค่กระเป๋าสตางค์หรือเปล่า ถูกต้องไหมครับ?


พระพุทธเจ้า ได้อธิบาย หรือ บอกเหตุผลที่ คู่สามีภรรยา จะไม่นอกใจ เบียดเบียนกัน สร้างอกุศลต่อกันให้น้อยที่สุดไว้ดังนี้ครับ


ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สมชีวิสูตรที่ ๑ ได้เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเข้าไปรับอาหารที่บ้านของ นกุลบิดาคฤหบดี บิดาและมารดาของนกุลบิดาคฤหบดี ได้ทูลถามว่าพระพุทธเจ้าว่า ตนทั้งสองตั้งแต่ครองคู่กันมา ก็ไม่เคยนอกใจกัน และ ปรารถนาที่จะครองคู่กันไปจนตลอดสัมปรายภพ คือ ตายเกิดใหม่ก็ได้คู่กันอีก จะต้องทำอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงให้คำตอบไว้ว่า



หากคูู่ทั้ง 2 หวังที่จะได้ครองคู่กันด้วยความผาสุก มีความสุขในกาม และ หวังจะได้เจอกันอีกตลอดสัมปรายภพ จะต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ และ ปัญญา เสมอกัน





แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ศรัทธา ศีล จาคะ และ ปัญญา เสมอกัน จะหมายถึงแค่ การเป็นคู่ครองคู่ชีวิตเท่านั้น ไม่เช่นนั้น คงมีคนบอกว่าพระพุทธเจ้า สนับสนุนให้มีคู่ แต่ เรื่องนี้ มันยังรวมไปถึง การเลือกคบหา กัลยาณมิตร หรือ มิตรที่ดีด้วย


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ทีฆชาณุสูตร ได้เล่าถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับที่ นิคมกักกรปัตตะ ชาวเมืองโกฬิยะ นามว่า ทีฆชาณุ ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และ บอกกับพระพุทธเจ้าว่า ตนนั้นยังเป็นผู้ครองเรือน ยังยินดีในกาม และทรัพย์สินเงินทอง ยินดีในการบำรุงผิวด้วยเครื่องหอม จึงอยากขอธรรมที่เหมาะกับตัวเองทั้งในกาลปัจจุบัน และภายภาคหน้า


พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรดไว้ว่า หากผู้ใดต้องการมีความสุขในกาลปัจจุบันแล้ว ผู้นั้นควรดำเนินธรรม 4 ประการ คือ


1.เลี้ยงชีพด้วยการประกอบการงาน ไม่เกียจคร้าน เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา


2. เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ก็ต้องรู้จักวิธีดูแลรักษาทรัพย์นั้น ไม่ให้ถูกเบียดเบียนเอาไป เรียกว่า อารักขสัมปทา


3. ต้องรู้จักคบเพื่อนดีที่ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เรียกว่า กัลยาณมิตตตา (เห็นอะไรคุ้น ๆ ไหมครับ?)


4. รู้ทางเจริญ รู้ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ใช้ชีวิต พอเหมาะ พอเพียง ให้สมกับรายได้ ไม่ให้รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ห่างไกลจากความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ อันได้แก่ ติดหญิง ติดการพนัน ติดเหล้า ติดเพื่อนชั่ว เรียกว่า สมชีวิตา


ส่วนถ้าหากต้องการมีความสุขในภายภาคหน้า ผู้นั้นควรดำเนินธรรม 4 ประการ อันได้แก่ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา (กลับมาอีกแล้ว)


ปุจฉา:แล้ว ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันนั้นเป็นไฉน?


วิสัชนา:หากผมพูดแค่ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา รับประกันได้ว่า ต่างคนจะต้องตึความไปตามสัญญาที่ตัวเองได้เรียนรู้กันมาแน่นอน ดังนั้น ผมขออนุญาตอธิบายให้เห็นภาพนะครับว่าแต่ล่ะอันหมายถึงอะไร


1. ศรัทธา คือ การ มีความเชื่อ ความคิด ความเห็น ไปในทางเดียวกันครับ


พื้นฐานของศรัทธานั้น คือ ความเชื่อครับ เมื่อเชื่อแล้ว จึงต้องใช้ปัญญาพิสูจน์ว่า ความเชื่อนั้นถูกต้องไหม เพื่อพิสูจน์จนแจ้งแล้ว จึงเรียก ความเชื่อนั้นว่า เป็นศรัทธาครับ


ในแง่ของการครองคู่ หากทั้งคู่ มีศรัทธาไม่เหมือนกัน เช่น คนหนึ่ง เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า ทุกสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นไม่ควรยึด ในขณะที่อีกคนเชื่อว่า คนเราเกิดครั้งเดียว ตายหนเดียว บ่วงไม่มีจริง คนเราทำอะไรไว้แล้วไม่ต้องได้รับผลของมัน เช่นนี้แล้วเมื่อครองคู่กัน ย่อมมีความขัดแย้งกัน


2. ศีล คือ ถือเครื่องพิจารณาที่เท่ากัน หรือ หากจะแปลให้เข้าใจง่ายกว่านั้น คือ มีความเป็นปกติเหมือนกัน หรือ ถ้าจะให้พูดเป็นภาษาคน คือ มี Life style เหมือนกัน


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ ปกติคนเราแต่ล่ะคนจะมีความเป็นปกติในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน ตามบุญกรรมของแต่ล่ะคนใช่ไหมครับ เช่นว่า คนหนึ่งต้องกินอาหารหรู ๆ อีกคนชอบกินอาหารแบบติดดิน รสนิยมการใช้ชีวิตเหล่านี้ ถือเป็นพื้นฐาน ลึกไปจนถึง เครื่องพิจารณา เช่น อีกคน ถือวัตรไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นบ่วง ขณะที่อีกคนไม่สนเชือดเลย แบบนี้หากใช้ชีวิตร่วมกันก็จะเกิดความขัดแย้งกัน


3. จาคะ คือ มีขอบเขตในการละที่เท่ากัน


ยกตัวอย่างเช่น หากคู่สามีภรรยา คนหนึ่งมีขอบเขตในละสูง ไม่ว่าจะในเรื่องการสละทรัพย์สิน หรือ แม้กระทั่งการละความโกรธ ละซึ่งความอาฆาตมาดร้าย หรือ คือ การให้อภัย แต่อีกคนนั้น เป็นคนที่มีขอบเขตในการละต่ำ ตระหนี่ในทรัพย์ เป็นผู้จองเวร เช่นนี้แล้วก็จะทำให้การครองคู่นั้นมีปัญหา


ลึกลงไปกว่านั้น คือ ระดับความสามารถในการละบ่วงต่าง ๆ เช่น บ่วงสถานที่ ไปจนถึง บ่วงตัวเราเอง หรือ เช่น ร่างกาย อัตตา เป็นต้น ซึ่งการจะละได้ต้องอาศัย "ปัญญา"


4. ปัญญา เสมอกัน คือ มีความเห็นแจ้ง ในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ เท่ากัน


ข้อนี้เป็นข้อที่คนตีความกันไปคนล่ะทางกันเยอะมาก บางคนก็ไปในทางการศึกษา บางคนก็ไปในทางใช้อารมณ์ หรือเหตุผล ซึ่งการตีความเหล่านั้น ล้วนไม่ใช่ทั้งสิ้น ที่สำคัญข้อนี้ ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะ ปัญญานั้น เกิดจากการตกผลึกของ ศรัทธา ศีล และ จาคะ


ผมขอยกตัวอย่างของ ความต่างกันของปัญญา ที่ทำให้การมองโลกนั้นต่างกัน เพราะถ้ายิ่งเราพัฒนาปัญญามากเท่าไร ตัวเราจะยิ่งหลุดออกจากโลกมากเท่านั้น ในเวลาเดียวกัน เราจะถูกมองเป็นสิ่งแปลกปลอมของโลกทันที เพราะเราคือ คนส่วนน้อย ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติว่า ผู้มีปัญญามาก ย่อมมีน้อยกว่าผู้มีปัญญาน้อยเสมอ และไม่มีใครสามารถทำให้คนเรามีปัญญาเท่ากันได้


ตัวอย่างแรก โลกเรามักมีคำพูดหวาน ๆ เช่น "ฉันรักเธอที่สุดในโลก และ ฉันจะรักเธอตลอดไป ไม่มีวันเสื่อมคลาย" สำหรับคนทั่วไปคงทำให้ใจเบาตัวลอย (ทั้งนี้เพราะ อัตตาว่าตัวเองได้รับความสำคัญถูกกระตุ้น) แต่สำหรับผู้มีปัญญาสูงเห็นแจ้งแล้ว คำพูดนี้ เป็นคำพูดที่ไม่สามารถพูดออกมาจากปากได้เลย เพราะเป็นคำพูดที่ไม่มีความเป็นจริงเลย แม้แต่ประโยคเดียว


กฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าพบ กล่าวไว้ว่า "สัตว์โลกนั้นย่อมรักตัวเองที่สุดเสมอ" ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ เราจะรักคนอื่นมากกว่าตัวเอง


หากเป็นกรณีความรักของชายหนุ่มหญิงสาว คำว่า "ฉันรักเธอ" เบื้องหลังมันคืออะไร?


เบื้องหลังของมัน คือ การที่ เรา เกิดความรู้ "ชอบ" หรือ "พึงใจ" ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งของฝั่งตรงข้าม หรือ "อยากให้เขามีความสุข" และ ปรุงแต่งไปจนกระทั่งมีความต้องการให้ฝั่งตรงข้ามนั้น เป็น "ของเรา" หรือ เราอยาก "ดูแลเขา อยากให้เขามีความสุข" แล้วเราก็เข้าใจว่า เรา "รัก" เขา


สังเกตไหมครับ จริง ๆ แล้วเราไม่ได้รักเขาหรอก เรารักความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเรา จาก กิเลส และ นิวรณ์ แล้วเราก็พยายามให้ได้ฝั่งตรงข้ามมาเคียงข้างเรา เพื่อตอบสนองกิเลสเราทั้งนั้น แม้แต่ความต้องการที่จะเดินเคียงข้าง ก็เป็นกิเลสแล้วครับ เช่นนี้แล้ว เราจึงไม่ได้รักคนอื่นไปมากกว่าตัวเองเลย


บางท่านอาจจะแย้งว่า "แล้วกรณีพ่อแม่ สละชีวิตเพื่อปกป้องลูกล่ะ" ไม่ใช่พ่อแม่รักลูกมากกว่าตัวเองหรือ .....คำตอบ คือ การที่เราเห็นพ่อแม่รักลูกมากกว่าตัวเองนั้น คือ เปลือกครับ แต่จริง ๆ พ่อแม่รักตัวเองที่สุดครับ เพราะพ่อแม่มีความ"อยาก" ให้ลูกมีชีวิตอยู่ต่อ อันเกิดจาก บ่วง และ ถูกเร้าด้วย โลภะอันแรงกล้า จึงตอบสนองความต้องการตัวเองด้วยการตายแทนลูก .......นี่คือการรักตัวเองครับ คือ การตอบสนองความต้องการตัวเองทั้งสิ้น


ประการต่อไป "ฉันจะรักเธอตลอดไป" นั้น ไม่มีวันเป็นจริงได้


เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไปเสมอ


ความรู้สึกที่เรียกว่า "รัก" ก็เช่นกัน ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป


หากท่านไหนไม่เชื่อ ขอแนะนำให้ ลองกำหนดสติ แล้วดูว่า ความรู้สึกที่เรียกว่ารักนั้น เกิด และ ตั้งอยู่ จนถึงเมื่อไร สมมติว่า เราเดทกับคนที่เรารักอยู่ แล้วเราเกิดไม่สบาย หรือ ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ ณ เวลานั้น ความสุขจากการอยู่กับคนที่รักดับลงแล้วหรือไม่


ฉะนั้น เวลาที่คนเราทุกข์ เนื่องจากว่า "ความรักเปลี่ยนไป" จึงเป็นเรื่องธรรมชาติ อันเป็นหนึ่งใน 2 อย่าง ของ โทษของความรักที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้


ปุจฉา :อะไร คือ "โทษ" ของความรัก?ทำไมความรักของโลกใบนี้จึงเป็นอกุศลเสียส่วนใหญ่ ?


วิสัชนา :พระพุทธเจ้าท่านทรงอธิบายเหตุแห่งรัก หรือที่เรียกว่า เสน่ห์หา ไว้ 2 ประการครับ ว่าความรักเกิดจาก


1. รักจากตัณหา เวลาที่เราเห็นใครแล้วชอบ หรือ พึงพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเขา ไม่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด หรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งนั้น ล้วนมีพื้นฐานมาจาก นิวรณ์ คือ ความชอบ มีพื้นฐาน จาก กิเลส คือ โลภะ และ โมหะ


2.รักจากทิฎฐิ คือ รักจากความเห็นของเรา ..... เห็นว่าสิ่งนั้น เป็น "......ของเรา" ครับ ไม่ว่าจะเป็น ตัวของเรา พ่อแม่ของเรา สามีหรือภรรยาของเรา ลูกของเรา ประเทศของเรา เงินภาษีของเรา.....ทุกอย่างที่มีคำว่า ของเรา ล้วนแต่เป็น ความเห็นผิด


ความเห็นผิดนี้ เกิดจาก "อัตตา" ซึ่งมีรูปย่อย เป็น "ทิฎฐิ" (ความเห็น) และ "มานะ" (ความถือว่าเราดีกว่า) ซึ่งมีสาเหตุจาก "อวิชชา" คือ "ความไม่รู้"


ไม่รู้อะไร ....ไม่รู้ว่า "ทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แและ ดับไป เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แและ ควบคุมไม่ได้" และ "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ควรยึด"


เหตุที่ไม่รู้ เพราะ ปัญญาไม่พัฒนาเพียงพอที่จะแจ้งความจริง


เหตุที่ปัญญาไม่พัฒนา เพราะ ไม่มีการฝึกฝน พัฒนาจิตเจริญปัญญา


และการพัฒนาจิตเจริญปัญญา คือ การฝึกการรู้แจ้ง ด้วยการเจริญ วิปัสสนา เพื่อฝึก "สติ"


ซึ่งเมื่อปัญญาเจริญแล้ว ก็จะเห็นว่า "ความรู้สึกรักของโลกใบนี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็น "อกุศล" ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ "ที่ใดมีรักที่นั่นจึงมีทุกข์" ครับ


ปุุจฉา:แล้วความรัก ที่เป็น "กุศล" ล่ะมีไหม?


วิสัชนา : สิ่งที่จัดเป็น "บ่วงกุศล" ใกล้เคียงกับความรักที่สุด และ พระพุทธเจ้าทรงให้การรับรองว่า เป็นสิ่งที่สัตว์โลกควรมีให้กัน และ ควรหมั่นเจริญอยู่เสมอ ๆ คือ "เมตตา" ครับ


เมตตา คือ การที่เราปรารถนาอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารัก หรือ เกลียด หรือเฉย ๆ และปรารถนาให้การเบียดเบียนนั้นลดลง (แค่แผ่จิตออกไป และ ลดการเบียดเบียนสัตว์โลกอื่นก็พอ แต่ไม่ต้องไปถึงขั้น วางแผนโน่นนี่นั่นโน่น เพื่อให้โลกนี้ปราศจากการเบียดเบียนนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้ พระพุทธเจ้าก็ยังทำไม่ได้ แถม ถ้าทำ เราจะเป็นทุกข์กับมันด้วยครับ ทุกข์ที่ทำไม่ทำไม่ได้ ดังนั้น ให้หยุดที่ การแผ่ความรู้สึกออกไป และลดการเบียดเบียนคนอื่นจากตัวเองก็พอ)


ความรัก ที่เกิดจากเมตตานั้น จัดเป็นความรักที่บริสุทธิ์ อายุสั้น และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ การปราศจากความรู้สึกอยากครอบครอง อยู่เคียงข้าง ปราศจากการสมสู่ หรือ หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้นทุกความรักของสัตว์โลกบนโลกใบนี้ ตั้งแต่ เป็นแฟนกันนะ แต่งงานกันเถอะ ล้วนแต่ไม่ใช่ความรักจากเมตตา แต่เป็นความรักที่เกิดจากอกุศล คือ ราคะจริตทั้งสิ้น


ดังนั้น หากเราตั้งใจจะเป็นผู้ละบ่วงก็ควรเห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ แล้วละมันเสีย แต่หากเรายังใช้ชีวิตในฐานะสัตว์โลก ก็ไม่ผิดถ้าที่เราจะรักใครชอบใคร เพียงแต่เราพึงสังวรณ์ตัวเองไว้เสมอว่า เราในตอนนี้ มีพฤติกรรม ไม่ต่างกับสัตว์โลกชนิดอื่นเลย ดังนั้นอย่าถือดีว่าตัวเองดีกว่า เหนือกว่า สัตว์โลกชนิดอื่นครับ เพราะ การสืบพันธ์ ความรู้สึกทางเพศ ความพอใจในความสุข จัดเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของสัตว์โลกครับ มีแต่ผู้มีปัญญาแจ้งแล้วจึงจะสามารถละสิ่งเหล่านี้ได้ครับ


ปุจฉา:หากเราตั้งใจจะเป็นผู้ละบ่วง ควรจัดการกับความรู้สึกรักอย่างไร?


วิสัชนา:หากเรารู้สึกว่า ชอบใคร ห่วงใคร รักใคร ให้รู้ว่าชอบครับ รับรู้ ว่าความรู้สึกที่ชอบนั้นตั้งอยู่ หรือ อาจจะภาวนาไปด้วยก็ได้ว่า "ชอบหนอ ชอบหนอ ชอบหนอ" ภาวนา ไปเรื่อย ๆ จนเมื่อความรู้สึกชอบนั้นดับลงแล้ว ให้หยุดภาวนา ให้พร้อมกันครับ หากเกิดอีกก็ให้ภาวนาอีก อย่างนี้เรื่อยไปครับ จนกระทั่ง ท่าน เบื่อ และ อิ่ม กับความรู้สึกนั้น จนสามารถ "รับรู้ ปล่อยวาง แล้วเฉย ๆ "ได้ครับ


ดังนั้นไม่ว่าเราจะชอบฝ่ายตรงข้ามที่ตรงไหน หรือ จะเปลี่ยนคนที่ชอบสักกี่ร้อยกี่พันคนก็ใช้หลักการเดียวกัน กำหนดไปเรื่อย ๆ อยากพูดด้วย อยากคุยด้วย อยากโทรไปหา ก็รับรู้ไปเฉย ๆ แต่ไม่ต้องไปตอบสนองมันด้วยการ คุย หรือ โทรหา นี่จึงเรียกว่า เป็น "ผู้ไกลจากกิเลส" คือ ไม่ใช่ไม่รู้สึกอะไร แต่รู้สึกแล้ว ไม่ตอบสนองมันต่างหาก


การทำแบบนี้ป็นการอบรมอินทรีย์ให้แข็งแกร่งขึ้นครับ เหมือนฝึกความอดทน แต่การจะประหารความรักให้เด็ดขาดต้องใช้ปัญญา ซึ่งพื้นฐานของมัน คือ "การเห็นโทษ" ของมันครับ ดังนั้น หมั่นพิจารณาโทษของการมีความรัก มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีลูก มีหลานครับ

เห็นอะไรไหมครับ พอลงลึกถึงระดับจิตใจแล้ว ความซาบซึ้งของโลกนี้ทุกอย่างล้วนมลายสิ้น ที่พูดมาเสียยาวยืดเนี่ยก็เพื่อจะบอกแค่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากคนที่ปัญญาถึงพร้อมแล้วว่า ความรักไม่มีจริง มาแต่งงานกับคนที่ลุ่มหลงในความรัก.....


แต่ในความเป็นจริง น้อยคนที่จะเจริญสติแล้วคิดว่าควรคู่กันไหม หรือ ควรรักกันไหม เท่ากันไหม เพราะสัตว์โลก รักด้วยอารมณ์ ด้วย สัญชาตญาณ เหมือนเห็นของที่ชอบแล้วอยากกิน หรือ ปวดท้อง อยากถ่ายแล้วต้องเข้าห้องน้ำ ความพีคของอารมณ์ตรงนั้น ทำให้บดบังสติไป สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ "การปรับตัวเข้าหากันเท่านั้น" ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความอดทนอย่างสูง


แต่ถ้าขี้เกียจ หรือ อดทนไม่พอล่ะก็ แนะนำให้หาคนที่ปัญญาเสมอกับตัวเองจะดีที่สุดครับ หรือ ไม่งั้นก็ ไม่แต่งงาน ไม่สร้างบ่วง จะเป็นการดีที่สุด


ซึ่งถ้าหากเราตั้งใจจะละบ่วง แต่ยังต้องการปลดเปลื้องความรู้สึกทางเพศเพียงอย่างเดียวล่ะก็ แนะนำให้ใช้บริการจาก "การขายบริการทางเพศ" ทุกรูปแบบครับ เพราะนั่นคือ "การแลกเปลี่ยนเท่าเทียมกันโดยไม่เกิดบ่วง" (ตราบใดที่คุณไม่ไปหลงผู้ให้บริการจนติด)

.

สำหรับเนื้อหาของ ศีลข้อ 3 ผมหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ หากกท่านมีข้อสงสัยอันดสามารถทิ้งคำถามไว้ที่ด้านล่างได้ ซึ่งผมจะนำมาตอบ และ ปรับปรุงบทความต่อไปครับ

Comentários


© 2021 by 19room Proudly created with Wix.com

bottom of page