ถ้ากฎหมายมันใช้ไม่ได้ แล้วโลกเราสร้างกฎหมายมาเพื่ออะไร ? (Sila 3/11)
- igqsan
- Apr 15, 2022
- 5 min read
Updated: Jul 17, 2022
ปุจฉา:งั้นถ้ากฎหมายมันใช้ไม่ได้ แล้วโลกเราสร้างกฎหมายมาเพื่ออะไร
วิสัชนา:หากบนโลกนี้ ไม่มีสิ่งสมมติที่เรียกว่า "กฎหมาย" สิ่งที่จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน คือ "กฎธรรมชาติ" ซึ่งหนึ่งในกฎธรรมชาติ คือ "ผู้อ่อนแอกว่าย่อมเป็นเหยื่อของผู้เข้มแข็งกว่าเสมอ" และ "คนโง่ ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด" คำถามคือว่า โดยธรรมชาติ จำนวนของ ผู้เข้มแข็งมีมากกว่า หรือ ผู้อ่อนแอมีมากกว่าครับ ......คำตอบคือ ผู้เข้มแข็ง ย่อมมีน้อยกว่าผู้อ่อนแอโดยธรรมชาติครับ เช่นเดียวกับ ผู้มีปัญญามาก ย่อมมีน้อยกว่า ผู้มีปัญญาน้อย ข้อนี้เป็น "สัจกฎ" ที่ไม่ค่อยมีใครอยากยอมรับ เพราะเราอยากเป็นผู้เข้มแข็ง ไม่อยากเป็นผู้อ่อนแอ
แต่จากสัจกฎอีกข้อ "จะมากจะน้อยสัตว์โลกย่อมรักตัวเองที่สุดเสมอ" หรือ พูดง่ายกว่านั้นคือ "ความรักตัวกลัวตาย" เหตุนี้สัตว์โลกที่อ่อนแอ จึงพยายามใช้ประโยชน์จากจำนวนของตัวเองที่มีมากกว่า แล้วสร้าง "สมมติกฎ" ขึ้นมา ภาษาที่ใช้ในการปลุกเร้า เราเรียกว่า "ลดความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างผู้เข้มแข็ง กับผู้อ่อนแอ แต่ ภาษาสำหรับสายจิตวิทยาและกลยุทธ์ เราจะใช้คำว่า "สร้างกฎของเกมขึ้นมาใหม่"
พูดง่าย ๆ ก็

ในเมื่อใช้กำลังสู้เขาไม่ได้ งั้นเราต้องสร้างกฎของเกมขึ้นมาใหม่ให้เรามีโอกาสชนะเขา แล้วเอาเขามาอยู่ภายใต้กฎของเกมของเรา
นี่คือ จุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ใช้จำนวนเข้าว่าครับ และ สิ่งที่เราใช้ในการรักษาให้สมมติกฎที่เราสร้างขึ้นอยู่ต่อไป เราจึงสร้างสิ่งสำหรับควบคุมมัน ที่เรียกว่า ระบบการศึกษา โดยเราแค่ใส่ข้อมูล input ให้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่โลกใบนี้ต้องการ เพื่อให้โลกนี้ มีความสงบสุข เท่าเทียม มีอิสระ มีความยุติธรรม โดยการอาศัยผลประโยชน์ร่วมกับ ธรรมชาติของสัตว์โลกในการรักตัวกลัวตาย
และเสริมด้วยกระบวนการทางจิตวิทยาในการควบคุมพฤติกรรมขั้นพื้นฐาน พฤติกรรมใดที่เราต้องการให้ส่งเสริม ให้ยกย่อง พฤติกรรมใดที่เราไม่ต้องการ ให้ลงโทษ ติเตียน ด้วยเหตุ จึงมีสิ่งสมมติที่เรียกว่า "ดี" และ "ชั่ว" เกิดขึ้น สิ่งที่เรา"ต้องการ" เราเรียกว่า "ดี" เมื่อคนทำดี เราต้องมีการยกย่อง มีการประกาศแก่สังคม มีการให้สังคมยอมรับ ส่วนพฤติกรรมใด "ไม่ดี" ก็มีการลงโทษ มีการประนาม มีการกระทำว่า พฤติกรรมนั้นไม่ยอมรับโดยสังคม
นี่คือกลไกในการควบคุมสังคมขั้นพื้นฐานที่โลกใบนี้ใช้ครับ มันจึงมีสิ่งที่เรียกว่า "สิ่งที่โลกต้องการให้เป็น" กับ "ความจริงตามธรรมชาติ" ครับ
อย่างที่ได้เคยบอกไปว่า สิ่งที่โลกต้องการให้เป็นนั้น "ล้วนเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น" เพราะ มันขัดกับธรรมชาติหรือ ความจริง และ จุดกำเนิดของมัน มาจาก "อกุศล" ซึ่งคือ "อัตตา" หรือ "ความรักตัวเอง" โดยพยายามปิดบังความจริงที่ว่า สิ่งที่พยายามทำอยู่นั้นมันเป็นเพียงแค่สิ่งสมมติ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงโดยธรรมชาติ และเรากำลังพยายามควบคุมสิ่งไม่เที่ยง ทั้งที่มันควบคุมไม่ได้
เหตุนี้ โดยธรรมชาติแล้วสัตว์โลกทุกชนิดล้วนมีสิทธิในตัวเองอย่างถูกต้อง และเท่าเทียมกัน ที่จะไม่ยอมรับมัน ทำลายมัน เมื่อมันขัดกับผลประโยชน์ตัวเอง เพราะ คนเราย่อมรักตัวเองที่สุดเสมอ และ "สมมติกฏ" มันอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยงโดยธรรมชาติ (Life find a way)
ดังนั้น สิ่งที่คนเราเฝ้าเรียกร้องตามหา ในเรื่อง "ความเท่าเทียม และ ความยุติธรรม" จากสมมติกฎ หรือที่เราเรียกร้องว่า "ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย" จึงไม่มีวันเป็นไปได้ ตราบใดที่โลกนี้ยังมีคนที่ถูกเร้าด้วย กิเลส และ นิวรณ์
เพราะเมื่อไรที่ "สมมติกฎ" นั้นขัดกับ "ความรักตัวเองของเรา" เราก็จะทำลายสมมติกฎนั้นทิ้งทันที โดยอาศัย โลภะ โทสะ และ โมหะ และ นิวรณ์ ในใจคนเราเป็นเครื่องช่วยในการทำลายสมมติกฎนั้น ซึ่ง ผู้ที่ละสิ่งเหล่านี้ได้มีเพียงพระอรหันต์ มันจึงกลับไปเข้าลูปเดิมคือ ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นพระอรหันต์ได้ (Loop การทำผิดกฎย่อมคงอยู่เสมอ)
มันจึงเป็นไปตามความจริงที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เห็นไว้ว่า "เราไม่สามารถเปลี่ยนกรรมเก่าได้ จึงทำให้คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แต่เราทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการเลือกสร้างกรรมใหม่"
จึงเป็นที่มาของสัจกฎ ที่ว่า ถ้าเราทำบ่วงชนิดไหนไว้ เราก็ได้ผลตอบแทนของบ่วงนั้น เช่น หากเราทำให้ใครไม่พอใจ แล้วคาดหวังว่า เขาจะมอบสิ่งดี ๆ กลับให้เราก็เป็นเรื่องที่คาดหวังยาก หรือ ถ้าเราทำให้ใครอิจฉาที่เราละเมิดสมมติกฎได้ แต่เขาทำไม่ได้ โทสะ จากพวกเขาก็จะพุ่งมาเราเช่นกัน หากลองไม่มีสมมติกฎครอบไว้ ว่า ห้ามทำร้ายกัน แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ รับรองได้ว่า เราจะได้เห็น คนทำร้ายกันเองตามสิ่งเร้าแน่นอน เพราะทุกอย่างเป็นไปตามความจริงที่ไม่มีวันเสื่อมคลายไปจากยุคสมัย
เหตุนี้ หากเราแยกไม่ออกว่า สิ่งที่เรียนรู้ของเราบนโลกใบนี้ สิ่งใดเป็นสิ่งสมมติ สิ่งใดเป็นสิ่งที่เรียกว่า "สัจกฎ" หรือ ความจริงตลอดกาล ที่ตราบใดที่มีสัตว์โลกตราบนั้นมันก็ยังเป็นความจริง เพราะรากหรือเนื้อแท้สัตว์โลก ไม่เคยเปลี่ยนไป จะเปลี่ยนก็แค่เปลือกเท่าน้้น เราจะไม่มีวันพ้นจากความทุกข์ได้เลย
เพราะแค่มีคนพยายามทำลายสมมติกฎ พยายามทำให้มันหลุดจากควบคุม (ทั้งที่มันไม่มีวันควบคุมได้ 100%) เราก็จะรู้สึกทุกข์จากความไม่พอใจของเราจนทนไม่ได้ และส่งออกมาด้วยการกระทำ เช่น ด่าทอ โดยไม่เคยรู้ตัวว่า เราเป็นแค่ทาสของ "สมมติระบบ" เท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเป็นทาสของ กิเลส และ นิวรณ์ด้วย
และ สิ่งที่จะทำให้เราแยกออกได้ คือ ปัญญา และผู้ที่มีปัญญาเห็นในสิ่งนั้นอย่างแจ่่มแจ้ง และนำมาบอกต่อนั้น คือ พระพุทธเจ้าครับ
ปุจฉา : แล้วแบบนี้ ความเท่าเทียม และ ความยุติธรรม อยู่ที่ไหน?
วิสัชนา : ไม่มีความเท่าเทียม หรือ ความยุติธรรมใด เกิดขึ้นจาก "ผู้ที่ยังมีอัตตาได้" ดังนั้น การจะบอก "รักทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน" หรือ "ให้ความยุติธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน" จึงไม่มีวันเป็นไปได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ละอัตตาอันเป็นเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกันได้แล้ว
สิ่งที่เท่าเทียมกันและยุติธรรมตามความเป็นจริงจึงเหลือแค่ 3 อย่าง
1.เกิดมาเป็นอะไร ย่อมต้องได้รับทุกข์ของการเกิดเป็นสิ่งนั้น
2.ในทุกเหตุแห่งการกระทำ ย่อมมีผลของการกระทำตามมาเสมอ และเราต้องรับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3.ไม่มีใครกลับไปแก้ไขกรรมเก่าได้ แต่เราโอกาสในการสร้างกรรมใหม่อย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งสามารถยุบให้จำง่าย ๆ ได้ด้วยคำว่า "ทำเหตุอย่างไรไว้ ต้องรับผลคือทุกข์ของมัน แก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เลือกทางในปัจจุบันได้"
หากพอเห็นภาพความแตกต่างของ"สัจกฎ" และ"สมมติกฎ"แล้ว ผมขออนุญาต นำท่านกลับมายัง "บ่วง" อีกรอบ
จากสิ่งที่ได้เคยอธิบายไว้ว่า การที่เราทำยุงตาย 1 ตัว ไม่ต่างกับเราทำคนตาย 1 คน เพราะบ่วงที่เกิดนั้นเท่ากัน
ถ้าบอกว่าเท่ากัน แล้ว "อนันตริยกรรม" หรือ "กรรมหนักทั้ง 5 ประการ" ล่ะ
ปุจฉา:ถ้าบ่วงนั้นเท่ากัน แล้วทำไม "อนันตริยกรรม" ถึงไม่เท่ากัน?
วิสชันา: การทำยุงตาย 1 ตัว กับการทำคนตาย 1 คน เกิดบ่วงเท่ากัน" เพราะเกิดบ่วงในลักษณะเหมือนกัน แต่ความหนักเบาของบ่วงนั้นต่างหากที่ไม่เท่ากัน"
ความหนักเบาของบ่วงนั้นมาจาก 2 ปัจจัย
1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เพราะแปรตาม "ความโกรธแค้น หรือ โลภะ โทสะ โมหะ" ของฝั่งที่ถูกกระทำ โกรธมากแค้นมาก แรงบ่วงก็ยิ่งแน่นมาก ถ้าอภัยให้ได้ก็เบา
2. ปัจจัยที่พอควบคุมได้ คือ เจตนาของฝั่งผู้กระทำ ถ้าตอนทำ ความตั้งใจมีมาก ถูกเร้าด้วย กิเลส นิวรณ์อย่างแรงมาก แรงบ่วงก็ยิ่งแน่นมากครับ
ถ้ามีฝั่งทั้ง 2 ฝั่ง ก็ 2 บ่วง แล้วบ่วงยิ่งเยอะ ตามธรรมชาติของสิ่งของ มันก็จะยิ่งหนักถูกไหมครับ
นี่คือธรรมชาติของบ่วงโดยทั่วไปครับ แต่ "อนันตริยกรรม" คือ บ่วงพิเศษ บ่วงนี้เป็นบ่วงหนัก หนักโดย default ไม่ต้องวัดด้วยความหนักเบาของความโกรธแค้น แม้อีกฝั่งจะอโหสิกรรมให้ ก็ยังต้องรับผล แถมให้ผลไม่จำกัดกาล คือ เป็นบ่วง infinite อันได้แก่ กรรม อันเกิดจาก
1.การจงใจฆ่าบิดา
2.การจงใจฆ่ามารดา
3.การจงใจฆ๋าพระอรหันต์
4.การจงใจทำร้ายพระพุทธเจ้า
5.การจงใจทำให้สงฆ์แตกกัน
คำถาม ทำไมการทำกรรมทั้ง 5 นี้ ถึงได้พิเศษกว่าอันอื่นครับ
อนันตริยกรรม 2 ข้อแรก เพราะ พ่อแม่ คือ ผู้ให้กำเนิดเราครับ .......

ไม่ว่าเราจะเกิดจากความตั้งใจของพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม อาจจะแค่ถุงยางรั่วเลยเกิดมา แต่ตัวเรานั้น เกิดจาก Cellของพ่อกับแม่มา ผสมกัน จนเกิดตัวเราที่เป็นร่างกายครับ จึงกลายเป็น "บ่วงหนักแบบพิเศษ" ที่ไม่สามารถลบเลือนได้ครับ ไม่ว่าจะในภพภูมิไหน ๆ ก็ตาม และมีผลตามถึงทุกภพชาติ ตราบจนสิ้นภพสิ้นชาติครับ
ฉะนั้น เมื่อเราเกิดมาแล้ว ก็เพราะกรรม (เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะเกิดมาแล้ว ถ้าไม่อยากมีบ่วงนี้ก็อย่าเกิดอีก) ไม่ว่าเราจะได้รับความรักจากพ่อแม่หรือไม่ แต่ตั้งแต่วินาทีที่เรามีร่างกาย เราก็มีบ่วงที่ไม่สามารถลบได้และมีผลตลอดกาลเกิดขึ้นมาทันทีครับ
และ แน่นอนครับ ผมทราบดีครับ ว่า "ลูกเลือกพ่อแม่ไม่ได้" ทั้งนี้เป็นเพราะ "ของที่สะสมแต่ล่ะคน" หรือ "กรรมที่ทำมาแต่ล่ะคนนั้น" ไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหน เป็นที่ต้องการหรือไม่ก็ตาม เรามีแต่ต้องยอมรับเท่านั้น เพราะกรรมในอดีตแก้ไขไม่ได้ แต่เราทุกคน "มีโอกาสเท่าเทียมกัน" ในการเลือกกระทำกรรมในปัจจุบันครับ
ในเมื่อเราทุกคน "มีโอกาสในการสร้างกรรมปัจจุบันที่เท่าเทียมกัน" เราจึงมีโอกาสในการสร้างบ่วงลบก็ได้ บ่วงบวกก็ได้ และหากเราเลือกที่จะสร้างบ่วงลบแก่พ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ท่านเสียใจ ร้องไห้น้ำตาตก ไม่พอใจ บ่วงที่เกิดขึ้น ย่อมมีความหนักกว่าบ่วงที่ทำกับคนอื่นปกติโดยทันที ในทางกลับกันหากเราสร้างบ่วงบวก เช่น การปฏิบัติกรรมฐาน แล้ว อุทิศกุศลให้พ่อแม่ บ่วงบวกที่ทำโดยเรานั้นก็จะมีความหนัก หรือความแรงกว่าคนอื่นโดยทันทีเช่นกัน นี่คือ ข้อพิเศษของบ่วงนี้ ดังนั้น อยู่ที่เราจะเลือกใช้ครับ
หากท่านไหนอ่านแล้วไม่เชื่อ ผมขอแนะนำให้พิสููจน์ด้วยตัวท่านเองครับ
ในส่วน 2 ข้อถัดไป ทั้งพระอรหันต์ และ พระพุทธเจ้า จัดว่าเป็น "ผู้ที่มีความสามารถในการชี้ทางสว่างให้สัตว์โลกผู้อื่นได้" ทั้งสองสถานะ ล้วนเป็นผู้ไม่มีบ่วงในตัวเอง ไม่มีจิตเจตนาแค้นเคืองผู้อื่น และ สามารถสอนธรรมให้สัตว์โลกพ้นบ่วงได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเวลาปฏิบัติ แล้ว แผ่เมตตาออกไป ด้วยกำลังของสติ และ สมาธิ ยังให้ได้ผลของแผ่ที่เข้มข้นกว่าคนปกติทั่วไป
พระอรหันต์ผู้ซึ่งยังเป็นมนุษย์นั้นสามารถฆ่าให้ตายได้ แต่ พระพุทธเจ้านั้นไม่สามารถปลงพระชนม์ได้ ทำได้ก็เพียงบาดเจ็บ แต่ก็เพราะการฆ่านั้น ยังให้สัตว์โลกอื่นเสียประโยชน์ เสียโอกาสในการที่จะบรรลุธรรมหรือออกจากบ่วงได้
เปรียบเหมือน คุณไปทำลายโอกาสในสิ่งที่เขาควรได้ ซึ่งการสูญเสียโอกาส ทำให้บ่วงของคนที่สูญเสียโอกาสนั้น พุ่งมาผูกที่คุณโดยอัตโนมัติ แม้ไม่รู้ตัวก็ตาม หรือ อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติให้ พระอรหันต์ คือ ผู้แจกอาหาร ที่มีคนที่กำลังหิวโหยรอรับอาหารอยู่มากมาย โดยที่ พระอรหันต์นั้นสามารถแจกได้ผู้เดียว เพราะคนอื่นไม่สามารถแจกได้ (ด้วยกำลังสติและสมาธืไม่พอ) ส่วนคุณมาถึงก็เอาปืนยิงคนแจกอาหารนั้นทิ้งทันที ถามว่า แล้วคนที่กำลังรออาหารอยู่มากมายนั้น จะเกิดความรู้สึกอย่างไรกับคุณ และจะทำอะไรกับคุณตามกฎธรรมชาติครับ
เหตุที่อธิบายเช่นนี้ เพราะ "อนันตริยกรรม ไม่ใช่บ่วงหนักที่สุดในคำสอนของพระพุทธเจ้า" แต่สิ่งที่หนักที่สุด คือ "มิจฉาทิฏฐิ" หรือ ความเห็นผิด เห็นว่า ทุกสิ่งนั้นเที่ยง มีตัวมีตน การกระทำทุกอย่างล้วนไม่มีบ่วง ไม่มีผลของมัน อันจะทำให้เกิดการฉุดรั้งวนเวียนอยู่ในสังสารต่อไป
นั่นคือ จุดประสงค์ของ อนันตริยกรรม และ มิจฉาทิฎฐิ
"กรรม หรือ การกระทำใด ที่เป็นไปเพื่อขัดขวางซึ่ง "การละ" กรรมนั้นพระพุทธองค์จัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ"
และจากสิ่งที่ได้อธิบายไป เราจะสามารถใช้ตอบคำถามที่เชื่อกันเยอะอีกคำถามได้ทันทีครับว่า
ปุจฉา: ถ้าเราไปฆ่าเขาตาย เราก็จะต้องถูกเขาฆ่า ถูกไหม?
วิสัชนา: ไม่จำเป็นเสมอไปครับ ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าเราเดินไปเหยียบเท้าเขา จำเป็นไหมที่เขาจะต้องเหยียบเท้าเรากลับ .....เขาอาจจะชักมีดมาแทงเรา หรือ เอาปืนมายิงเราตายก็ได้จริงไหมครับ?
เพราะคนเราใจแคบ กว้าง ความหัวร้อนไม่เท่ากัน เช่นกัน ในกรณีกลับกันที่เราทำบ่วงบวกให้คนอื่น ก็ไม่มีอะไรรับประกันเช่นกัน ว่า ฝั่งตรงข้ามจะตอบกลับเราด้วยสิ่งดี ๆ เขาอาจจะฆ่าเราทิ้งก็ได้ ด้วยว่า เขาไม่เห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งดีสำหรับเขา เพราะ ความดีนั้นไม่เที่ยง และ ความพอใจ ไม่พอใจนั้น เที่ยงกว่าความดี
หรือในทางกลับกันเราไปเหยียบเท้าเขา แต่คนที่ถูกเหยียบให้อภัยเรา บ่วงก็ไม่เกิดแล้ว ถูกไหมครับ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็น เราไปฆ่าเขาตาย แต่เขาให้อภัยเรา เราก็ไม่มีบ่วงอยู่เลยเช่นกันครับ (แต่อย่าลืมว่า เราไม่มีวันควบคุมให้คนให้อภัยเราได้เสมอหรือตลอดไปนะครับ)
อ้าว งั้นแบบนี้ "ทำกรรมไว้ยังไง ต้องได้รับผลอย่างนั้น" ก็ไม่เป็นจริงน่ะสิ
ปุจฉา: "ทำกรรมไว้ยังไง ต้องได้รับผลอย่างนั้น" เป็นความจริงไหม?
วิสัชนา: อย่างที่กล่าวไปตอนต้น เวลาที่เราทำบ่วงบวก แสดงว่า จิตใจเราจะไม่ถูกเร้า ด้วย กิเลส และ นิวรณ์ ที่เป็นบ่วงลบ ใช่ไหมครับ? ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราได้ ความสุขจากการไม่มีบ่วงลบ....เห็นอะไรไหมครับ Action = Reaction เรียบร้อยแล้ว
ทีนี้ลองมาดูเวลา เวลาที่เราทำบ่วงลบบ้าง....จิตใจเราจะถูกเร้าด้วย กิเลส และ นิวรณ์ จนเราทนไม่ได้ ต้องมีการ "ดิ้นรน" เพื่อ "ตอบสนองกิเลสและนิวรณ์" ซึ่ง "ทุกข์" เกิดขึ้นแล้วครับ Action = Reaction ตรงนี้ครับ

แต่กิเลส และ นิวรณ์ เขาฉลาดครับ Action = Reaction เมื่อเราทำงานให้ กิเลส และนิวรณ์ กิเลสและนิวรณ์ ก็จะให้รางวัลตอบแทนเรา คือ "ความสุข" ครับ
ความสุขชนิดนี้ เป็นความสุขที่เกิดจากมีครับ เป็นความสุขที่คนทั่วไป เห็นได้ สัมผัสได้ เช่น การมีเงินมีทอง มีอำนาจบารมี มีคนยกย่องนับหน้าถือตา เป็นสิ่งที่คนบนโลกนี้ล้วนใฝ่หา เพราะเป็น "ความสุขในทางโลกีย"และด้วยเหตุนี้เองครับ จึงทำให้คนเรายังยอมเป็นทาสของกิเลส และ นิวรณ์ต่อไปครับ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ มีใครบนโลกนี้ ไม่อยากร่ำรวย ไม่อยากมีเงินทอง ซึ่งเงินทองนำมาซึ่งอำนาจ โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และ เงินทองนำมาซึ่งความสุข ที่สามารถดับ "ทุกข์" ชั่วคราวได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารดี ๆ ไปเที่ยวที่สวย ๆ ซื้อของใช้ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็นต่าง ๆ
แต่ในการจะมีเงินทอง เราก็ต้องทำงาน ต้อง "ดิ้นรน" เพื่อพัฒนาตัวเอง แข่งขันกับทั้งตัวเองและผู้อื่น ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ต้องทำงานหนัก ต้องสู้กับคนอื่น .....ต้องผ่านการเป็นทุกข์ เพื่อแลกกับ "ความสุขที่ได้ใช้เงิน" ยิ่งถูกกระตุ้นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความต้องการดิ้นรนมากเท่านั้น หรือ ยิ่งถ้ามีบ่วงครอบครัวด้วยก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้นอีก ถูกไหมครับ?
นี่แค่หามาเท่าน้้น ยังไม่รวมถึง หามาได้ แล้วก็ต้อง พยายามทำให้เพิ่มพูน เห็นความเป็นทุกข์ในความพยายามไหมครับ โดยที่เราคิดว่าเราพยายามเพื่อความสุขเรา เพื่ออนาคตที่ไม่ต้องพยายามแล้วของเรา เพื่ออิสรภาพทางการเงิน นี่ยังไม่รวม ต้องพยายามรักษา กลัวคนอื่นมาแย่งชิงของเรา เป็นคู่แข่งเรา แย่งลูกค้าเราไป เหมือน สัตว์แย่งชิงพื้นที่แย่งชิงอาหารฉันใดฉันนั้น
เห็นความแตกต่างของ "ความสุขจากการไม่มี" กับ "ความสุขจากการมี" ไหมครับ ในทางโลกีย เราบอกว่า ความสุขจากการมี คือ สิ่งที่ใช่แล้ว เพราะโลกพัฒนาเพราะสิ่งนี้ แต่ในทางโลกุตตร คำถามคือ "แล้วเมื่อไรจะจบสักที"
พระพุทธเจ้า กล่าวว่า "ทุกสิ่ง ในโลกนี้ ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ "
ดังนั้น ไม่มีความร่ำรวยใดที่จะอยู่ถาวร ไม่มีอำนาจใดที่อยู่ถาวร ไม่มีความรู้ใดที่ยืนยงตลอดกาล ไม่เกิน 10 ปี สิ่งที่คุณรู้ คือ ของเก่าแล้ว กี่ครั้งแล้วที่คุณต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ กี่ครั้งแล้วที่ต้องพยายามหาเงินใหม่ เหมือนเรียนวิชาที่ไม่มีวันจบ เหมือนการวิ่งที่ไม่เห็นเส้นชัย แล้วจุดจบอยู่ที่ไหนครับ?
มีวิชาไหนไหมที่เรียนแล้วจบทุกอย่างได้จริง ๆ?เงินทอง อำนาจที่ได้มา สุดท้ายแล้ว เมื่อตาย คุณเอาอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากเหลือไว้ให้ลูกหลาน แล้ว มั่นใจไหมว่าลูกหลานคุณจะรักษามันต่อไปได้ หรือ แค่เหลือไว้หน้าที่ฉันก็จบแล้ว
สรุป ชีวิตคุณเกิดมาเพื่ออะไร เพื่อดิ้นรนหาทรัพยากร สืบพันธุ์ แล้วก็ตายไป ถูกต้องหรือเปล่าครับ?
ดังนั้นแล้ว "หว่านพืชอย่างไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมไว้ยังไง ต้องได้รับผลอย่างนั้น" จึงเป็น ธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ดีแล้ว และ พิสูจน์ได้ไม่จำกัดกาลครับ
แต่......ถ้ามันเป็นจริง แล้วทำไมเรายังเห็น คนทำดีไม่ดี ทำชั่วแล้วได้ดีอยู่ล่ะ?
ปุจฉา: "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" มันเป็นความจริงไหม?
วิสัชนา: นั่นสิครับ "ทำดีแล้วได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วแล้วได้ดี ถมเถไป"......ทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้นครับ?
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราลืมเอาตัวแปร " ปริมาณ ความถี่ และเวลา" เข้ามาคิดครับ
หากผมเปรียบ บ่วงบวก เป็น "ความเย็น" บ่วงลบ เป็น "ความร้อน" หากเราเอา ความเย็นใส่เข้าไปในระบบที่มีความร้อน แล้วปริมาณความเย็นมีน้อยกว่าความร้อน ถามว่า ผลรวมของระบบ จะยังเป็นความร้อนหรือความเย็นครับ ตามหลัก Thermodynamic ...ยังคงเป็นความร้อนใช่ไหมครับ
ทีนี้ถ้าผมอยากให้ระบบเป็นความเย็นเราต้องทำอย่างไรครับ....โดยธรรมชาติ เราก็ต้องเพิ่มความเย็นเข้าไป หรือ ดูดความร้อนออกใช่ไหมครับ...ซึ่งหากเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้ว สักวันหนึ่งผลรวมของระบบก็ต้องเป็นความเย็นถูกไหมครับ
ในขณะที่เวลาเราทำบ่วงบวกกับคนอื่น ก็เปรียบเหมือน เราใส่ความเย็นลงไปในระบบครับ ถ้าเราใส่ลงในระบบที่มีความร้อนมาก กว่าจะเย็นก็ต้องใช้ปริมาณความเย็นที่มากกว่า พลังงานที่มากกว่า และเวลาที่นานกว่า ถูกไหมครับ?
ดังนั้น การที่เรายังไม่รู้สึกว่ามันเย็นสักที ก็เพราะ ผลรวมของระบบยังร้อนอยู่ เปรียบเหมือน ทำดีไปก็ยังไม่ได้ผลตอบแทนดี ๆ สักที แต่สิ่งที่เราลืมมองไปคือ เราได้ผลตอบแทนดี ๆ จากการไม่สร้างบ่วงเกิดขึ้นแล้วครับ
เช่นกัน ในทางตรงข้าม ที่เราเห็นคนทำบ่วงลบ แล้ว เขาได้แต่สิ่งดี ๆ เพราะระบบรอบตัวเขายังไม่ร้อนครับ ซึ่งกว่ามันจะร้อน บางที เราก็อาจไม่ได้อยู่เห็นแล้วก็ได้นะครับ
อนึ่งครับ การสร้างบ่วงบวกกับคนอื่น โดยหวังว่า เราจะได้สิ่งดี ๆ ตอบแทน เป็น "โลภะ" นะครับ แม้กระทั่งการไม่สร้างบ่วงลบกับคนอื่น เพราะกลัวว่าจะได้สิ่งไม่ดีกลับมา หรือ กลัวไปนรก ก็เป็น "โทสะ" นะครับ สิ่งที่ควรเกิดในใจมีเพียง มีสติรู้ว่า กำลังจะสร้างบ่วงอะไร และหลีกเลี่ยงการสร้างบ่วงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ
ปุจฉา:แล้วถ้าหากกลับกัน หากเราเป็นฝ่ายถูกทำร้าย ถูกตามฆ๋า หรือ กำลังถูกฆ่า เราควรทำอย่างไร?
วิสัชนา:หากว่าเรากำลังถูกตามทำร้าย หรือ ถูกเบียดเบียนด้วยอะไรก็ตาม เราควรกำหนดไว้ในใจเป็นพื้นฐาน คือ "การไม่สร้างบ่วงจากฝั่งเราเพิ่ม" ดังนั้น หากหลบได้ให้หลบ หนีได้ให้หนี เลี่ยงได้ให้เลี่ยง แต่หากถึงที่สุดแล้ว หลบก็ไม่ได้ หนีก็ไม่พ้น ให้กำหนดสติ แล้วรอรับการทำร้ายโดยไม่โต้ตอบ ด้วยจิตที่เป็นกลาง วางเฉย ปราศจากความต้องการแก้แค้นและเอาคืนครับ หรือ ถ้าหากวางเฉยไม่ได้ ให้เลือกเจริญเมตตา และ ให้อภัยผู้ที่มาฆ๋าเรา หรือ ละบ่วงทิ้งนั่นเอง
หรือ พูดง่าย ๆ "ถ้าเขาจะฆ่าเรา หนียังไงก็ไม่พ้นก็จงอยู่เฉย ๆ ให้เขาฆ่าอย่างสงบ" ครับ และอย่าสู้กลับเป็นอันขาด เพราะทันทีที่สู้ บ่วงเกิดขึ้นทันทีครับ
บางท่านอาจจะถามว่า อ้าว...แล้วแบบนี้คนที่ฆ่าเราล่ะ จะปล่อยให้คนชั่วลอยนวลงั้นหรือ?
คำตอบ คือ ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไปผูกบ่วง ให้ปล่อย และละมัน ให้อภัยเขาครับ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่ยังละไม่ได้เหมือนกันในการจัดการเขา เพราะโดย "สัจกฎ" สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเจอคนที่เอาคืนเขาเอง ไม่ต้องหวังพึ่งกฎหมายเพราะกฎหมายไม่มีวันศักดิ์สิทธิ์ แต่ "กฎแห่งกรรม หรือ การกระทำ" นี่แหละ ที่จะเป็นคนจัดการเขาเอง ซึ่งคนจัดการเขาจะเป็นใครก็ช่าง เขาถูกจัดการเมื่อไรก็ช่าง แต่ต้องไม่ใช่เราที่เป็นคนไปผูกบ่วงอยากให้เขาถูกจัดการครับ
การกระทำเช่นนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" ครับ
ทั้งนี้มันต่างจากการกระทำ ที่เป็นการเรียกร้องประท้วงแบบยอมให้เขาทำร้ายโดยไม่โต้ตอบ คนทั่วไปมักชอบอ้างกันว่า "อหิงสา" แต่เพราะ การเรียกร้องนั้น ตั้งอยู่บนโลภะเป็นพื้นฐาน การกระทำนั้นจึงเป็น "อกุศล" แต่แรก คือ เป็นการกระทำหวังผล เป็นการกระทำที่มีบ่วงแต่แรก ดังนั้น แม้ว่าคุณจะไม่โต้ตอบ แต่ คนที่เริ่มสร้างบ่วง คือ คุณเองครับ
ปุจฉา: ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" ?
วิสัชนา: "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" จุดประสงค์ คือ เป็นการลดบ่วงที่เกิดขึ้น จาก สิ่งที่เราพอควบคุมได้ คือ ตัวเราเองครับ โดยที่ฝั่งเราเป็นฝ่ายเริ่มตัดก่อนครับ ซึ่งการทำนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ เพราะเราจะต้องรับความรู้สึกของการเป็น "ผู้แพ้" ครับ
ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ เวลาเราทุ่มเถียงกับใครสักคน จะบนเนตก็ดี หรืออะไร โต้ตอบกันไปมา มันจะจบก็ต่อเมื่อ มีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ หรือ เหนือกว่า จะด้วยเหตุผล หรืออะไรก็แล้วแต่ และ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้ หรือด้อยกว่า โดยธรรมชาติของสัตว์แล้ว ทุกตัวอยากเป็นฝ่ายชนะ แต่ยิ่งเถียงกันมากเท่าไรก็เหมือน บ่วงก็จะยิ่งรัดแน่นขึ้น เพราะไม่ว่าผลจะออกมาแพ้ชนะ บ่วงก็ย่อมเกิด ผู้ชนะ จะได้บ่วงของผู้ชนะ คือ ความยินดีในการชนะ เป็นโลภะ ผู้แพ้ ได้ความไม่พอใจในการแพ้ เป็นโทสะ
การที่เรายอมแพ้ด้วยการไม่เถียง คือ เลิกจองเวรก่อน คือ การตัดบ่วงเรา เหมือนเราอโหสิกรรม และ "พอ" ที่จะไม่สร้างบ่วงเพิ่ม และตัดบ่วงนี้ทิ้งเสีย ผลที่ออกมาคือ เราจะเป็นผู้แพ้ทันที แต่เป็นการแพ้ที่ไม่มีบ่วงของผู้แพ้ ซึ่งเป็นการดีกับตัวเรามากกว่า
เหตุนี้ จึงได้มีคำพูดว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร" เพราะ "พระ" จะต้องเป็น "ผู้แพ้"เสมอ ถ้าพระเป็นผู้ชนะ แสดงว่า พระสร้างบ่วงแล้ว สร้างบ่วงความไม่พอใจอยากเอาคืนให้แก่อีกฝ่าย ดังนั้น คำพูดจากพระจึงต้องมีเมตตาเป็นพื้นฐาน และ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดสร้างบ่วงให้มากที่สุดครับ เรื่องคำพูดนี้ จะไปลงรายละเอียดอีกครั้งตอน ศีลข้อ 4 ครับ
พอจะเห็นภาพด้วยหลักของเหตุและผลหรือยังครับ ว่าอันไหน เป็นกระทำที่ควรทำไม่ควรทำ เหตุมาจากอะไร ก่อให้เกิดผลอะไรตามมา ไม่ใช่มาจากการท่องจำ หรือเปิดตำรา
ถ้าคิดว่าตัวเองเข้าใจแล้ว ลองมาตอบคำถามที่เข้ากับโลกปัจจุบันกันหน่อยไหมครับ?
ปุจฉา: ฆ่าคนในเกมบาปไหม?
วิสัชนา:มาวิเคราะห์กันครับ อย่างแรก อย่างที่บอก ให้ลืมคำว่า ดี ชั่ว บุญ บาป ทิ้งไปซะ แล้วมาพิจารณาบ่วงกัน ในที่นี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี
1.) กรณีที่เราเล่นเกมคนเดียว อีกฝ่ายเป็น A.I.
เคสนี้ เมื่อลองไล่ตาม process คือ
1.1 เราส่งจิตออกนอกไปรับรู้สิ่งเร้า
1.2 เราเกิดการตอบสนอง ด้วย การชอบ ไม่ชอบ (เพราะ กฎของเกมที่ผ่านจุดที่กำหนดไว้ได้จะได้ผลตอบแทน) ทำให้ใจเราเกิดบ่วง 3 อย่าง วนกันไปตลอดเวลา คือ
โมหะ เป็นพื้นฐาน คือ หลงและในเกม ยังคงเล่นเกม เกิดความรู้สึกอยากเล่นเกมต่อไป,
โลภะ จากความชอบ หรือดีใจที่ท่ผ่านได้,
โทสะ จากความไม่ชอบ ไม่พอใจหากไม่ผ่าน
เห็นไหมครับ ขนาดแค่ตัวเราคนเดียวก็กิดบ่วงขนาดนี้แล้ว ซึ่งตัวเราคนเดียว บ่วงยังควบคุมได้ แต่ถ้ามีคนอื่นมาพ่วงด้วยล่ะ
2.) กรณีที่ผู้ร่วมเล่นเป็นคน
หลายต่อหลายท่าน ฟันธงไว้ว่า "ฆ่าคนในเกมไม่บาป" แต่สำหรับผม ผมขอพิสูจน์ให้เห็นว่า "การฆ่าคนในเกมนั้น เกิดบ่วงที่แทบไม่ต่างกับการฆ่าคนจริง ๆ เลย"
มาลองดูกันดีกว่าครับว่า "คนที่ถูกฆ่าในชีวิตจริง" เกิดบ่วงอะไรบ้าง?
1.โทสะ - อันเนื่องจาก ความไม่ชอบใจ ในความเจ็บปวด ความไม่อยากตาย
2.โลภะ - อันเนื่องจาก ความต้องการในการอยากแก้แค้น อยากเอาคืน
3.โมหะ - อันก็ให้เกิด การผูกจิตฝังแน่นกับบุคคล หรือ สิ่งที่ทำให้ตาย หรือ สิ่งที่ยังห่วง
แล้ว "คนที่ถูกฆ่าในเกม" ล่ะ เกิดบ่วงอะไรบ้าง?
1.โทสะ - อันเนื่องจาก ความไม่ชอบใจ ในความพ่ายแพ้ ความไม่อยากตาย
2.โลภะ - อันเนื่องจาก ความต้องการในการอยากแก้แค้น อยากเอาคืน
3.โมหะ - อันที่จริง โมหะ นั้น เป็นพื้นฐานของ "โลภะ" และ "โทสะ" ไม่ว่ายังไงย่อมเกิดเสมอ ถึงจะส่งผลให้จิตยึดมั่นในสิ่งนั้น
เห็นไหมครับ แทบไม่ต่างกันเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะ "ร่างกายเป็นสิ่งสมมติ เป็นของถูกยืม " ในเกม เราเปลี่ยนร่างกายของเราไปเป็นตัวละครในเกม ในขณะที่ "จิต และ ใจ" ยังคงเหมือนเดิม จึงเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า " กาย จิต และใจ" นั้นเป็นคนล่ะส่วนกัน ในทางพุทธศาสนา เราเรียกว่า "รูป กับ นาม"
สำหรับเบื้องต้นในศีลข้อที่ 1 ผมขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ หากท่านใดมีคำถาม มีข้อสงสัย สามารถทิ้งคำถามไว้ด้านล่างได้เลยครับ ผมจะตอบและนำมา Update บทความเรื่อย ๆ ครับ
Kommentare