top of page

มารู้จัก ศีลข้อที่ 4 ตามความเป็นจริงกัน(Sila7/11)

  • igqsan
  • Apr 15, 2022
  • 3 min read

Updated: Jul 17, 2022

ศีลข้อ 4 จัดเป็นศีลข้อที่ตีความแล้วดูแล้วไม่ค่อยมีอะไร เพราะ แปลตามตัวอักษร "มุสาวาทาเวรมณี" ก็แปลว่าอย่า "โกหก" แต่.....ดูก่อนท่านทั้งหลาย........ทราบไหมครับว่า "การพูดความจริง ก็ทำให้เกิดบ่วงในศีลข้อนี้ได้" เหมือนกัน


ปุจฉา: จุดประสงค์ของศีลข้อ 4 คือ


วิสัชนา: จุดประสงค์ของศีลข้อที่ 4 คือ ให้พึงระวังการสร้างบ่วงในใจผู้อื่นโดยการกระทำทาง "วาจา" โดยเจตนา


เช่นเคยครับ สิ่งที่ต้องพิจารณาหลักของศีลข้อนี้ คือ "บ่วงที่เกิด" แล้วการโกหกน่ะ สร้างบ่วงอะไรบ้าง


การโกหกนั้น บ่วงอกุศลแรกที่เกิดกับตัวเอง คือ บ่วง โมหะ และ โลภะ คือ "ความต้องการผลประโยชน์อันเกิดจากการโกหก" และ อาจมีโทสะ ร่วมมาด้วย กรณีที่ โกหก ด้วยความประสงค์ร้าย เช่น ต้องการทำลายล้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สิ้นไป


ส่วนบ่วงที่เกิดกับฝั่งตรงข้าม คือ โมหะ อันเป็นพื้นฐาน ของโทสะ จากความไม่พอใจ เมื่อรู้ความจริงว่าถูกหลอก และ โลภะ จากความต้องการในการแก้แค้น เมื่อรู้ความจริงว่าถูกหลอก อันเกิดจากการเสียผลประโยชน์นั้น ๆ


สังเกตนะครับว่า ข้อนี้ ผมมีคำว่า "ผลประโยชน์" เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะ เป็นปัจจัยสำคัญมากในการพิจารณาว่า บ่วงที่เกิดจากการโกหกนั้น หนักหนาสาหัสแค่ไหน ยิ่งทำให้เขาเสียผลประโยชน์มากเท่าไร ยิ่งอีกฝั่งมีความละไม่ได้สูงมากเท่าไร บ่วงที่เกิดยิ่งมีความเข้มข้นมากเท่านั้น


นอกจากเรื่องความเข้มข้นของบ่วงที่เกิดจาก ตัวผู้ถูกกระทำโดยตรงแล้ว หากเป็นเรื่องโกหก ที่มีผลกับคนวงมาก แล้ว บ่วงนั้นเป็นบ่วงอกุศล เช่น ก่อให้เกิดความไม่พอใจคนหมู่มาก หรือ คนที่ได้รับข้อมูลไป ไปทำร้ายคนอื่น บ่วงที่เกิดกับคนเหล่านั้น จะมาเป็นบ่วงติดตัวกับเรา เป็น Chain Reaction ด้วยเช่นกัน และยิ่งคำโกหกเรานั้น แพร่กระจายออกไปมากเท่าไร สร้างอกุศลออกไปมากเท่าไร บ่วงที่ติดตัวเราก็จะยิ่งหนักขึ้นเป็นเงาตามตัวครับ


ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของ Social Media คำโกหก ย่อมแพร่ไปไว แและถึงคนหมู่มากได้มากกว่าแต่ก่อน เราจึงพบเห็นการโกหก ปล่อยข้อมูลลลวงบนโซเชียล เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือ ความพอใจของตัวเองจำนวนมาก และแน่นอน สิ่งที่คนเหล่านั้นไม่รู้ คือ อกุศลที่เกิดในใจของคนเหล่าน้น เมื่อรู้ว่าถูกหลอกแม้ว่าจะไม่รู้ตัวคนปล่อยข่าว แต่แค่เขาไม่ชอบใจ บ่วงนั้นก็ถึงตัวต้นตอคนปล่อยโดยอัตโนมัติเช่นกันครับ


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่แค่เรื่องของการโกหก เพราะ ใจความสำคัญของศีลข้อนี้ รวมไปถึงการสร้างบ่วงอกุศลในใจผู้อื่นด้วยคำพูดในทุกกรณี และ เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำถามต่อไป


ปุจฉา : การพูดความจริง สามารถผิดศีลข้อ 4 ได้อย่างไร?


วิสัชนา : สมมติว่า "คุณพูดจาโดยจงใจให้คนฟัง รู้สึกเกลียดชัง ไม่ชอบใจ ในพฤติกรรมของคนคนหนึ่ง แม้ว่าตัวคนที่คุณพูดถึงนั้นจะกระทำสิ่งเหล่านั้นจริง สิ่งที่คุณพูดเป็นความจริง แต่จุดประสงค์ คือ คุณต้องการคนที่ไม่ชอบ คนคนนั้นด้วยกันกับคุณเพิ่มขึ้น เห็นด้วยคล้อยตามกับคุณเพิ่มขึ้น การกระทำนั้น ถือว่าเป็นบ่วงอกุศล



เพราะคุณสร้างความเกลียดชัง อันทำให้เกิดโทสะขึ้นในใจคน ยิ่งเป็นคนหมู่มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดบ่วงยิ่งมากขึ้น และความเข้มข้นยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้าหากการกระทำคุณนั้น สร้างความแตกแยกให้กับคนหมู่มาก จนส่งผลให้เกิดความวุ่นวายระดับใหญ่ เช่น เกิดการรวมกลุ่มออกไป ใช้กำลัง หรือ มีการกระทำทางกาย เช่น การเดินขบวนประท้วง ปิดถนนกัดขวางการจราจร ก็จะนำมาซึ่ง ความไม่พอใจ ของคนสัญจร บ่วงนั้นก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก


เห็นอะไรไหมครับ แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่การเอาเรื่องจริงมาพูด แล้วทำให้คนอื่นเกิดโทสะ การ กระทำของคุณนั้น ก็เป็นการสร้างบ่วง และ ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำอย่างเด็ดขาด (เหตุนี้พระพุทธเจ้า จึงเตือนเรื่องของการ ส่งจิตออกนอก การไม่ใส่ใจการกระทำของคนอื่น ไม่ตำหนิติเตียนการกระทำคนอื่น มุ่งเน้นแค่ติเตียนตัวเองเท่านั้น)


ในทางกลับกันครับ การพูดเรื่องไม่จริง แต่คำพูดนั้น สร้างกุศลในใจคนฟัง สร้างกุศลในใจคนหมู่มาก โดยที่ตัวเองนั้น ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการพูดเรื่องไม่จริงนั้น กลับสร้างบ่วงที่น้อยและเบาบางกว่า การพูดเรื่องจริง แต่ทำให้เกิดอกุศลในใจคนอื่น (สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ บ่วงกุศล อายุสั้นกว่าอกุศล)


และนี่คือสิ่งที่ ผมไม่อยากสอนเท่าไร เพราะเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก และ โอกาสที่คนใช้จะนำไปใช้อย่างผิด ๆ เยอะมาก ถ้าสติไม่ดีพอ แต่ครูบาอาจารย์ส่วนมากมักใช้กัน สิ่งนี้เรียกว่า "White Lie"



วิสัชนา :White Lie หรือ การโกหกสีขาว คือ การโกหกโดยเจตนาเพื่อรักษาสถาวะจิตของอีกฝ่าย หรือ ยังกุศลให้เกิดในใจอีกฝ่าย โดยที่ใจความสำคัญอยู่ 2 ประการ ที่ต้องบรรลุ คือ


1. เราต้องไม่มีส่วนได้ในการโกหกนั้น


2. คำพูดนั้น ก่อให้เกิดแต่บ่วงกุศลในใจ รวมถึงสิ่งที่บุคคลนั้นจะไปกระทำต่อ ต้องเป็นบ่วงกุศลเท่านั้น


ผมยกตัวอย่างครับ สังเกตไหมครับ ว่า ครูบาอาจารย์ มักจะชอบ ใช้ "ความโลภ" มาจูงใจให้ทำกรรมที่เป็นกุศล เช่นการสวดมนต์ ภาวนา โดยมักจะมี Story ว่า สวดมนต์บทนี้ ๆ แล้วจะทำให้ทำมาค้าขึ้น ปราศจากภยันอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น ถามว่า จริงไหมครับ.......เอาตามจริง คือ ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าจริงหรือไม่จริง มันอาจจะจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้


บางครั้งคนก็มักตั้งคำถามว่า แล้วในกรณีที่มันไม่จริง ทำแบบนี้ไม่มีผิดศีลหรอ งั้นเรามาลองไล่ดูกันครับ อย่างที่บอก อย่างแรก ตัวคนพูด ต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ


การแนะนำให้สวดมนต์โดยเอาความโลภคนเป็นที่ตั้ง และ คนพูดไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ กลับเลยนั้น


ในฝั่งคนพูดนั้น โดยตัวเองนั้น ก็จะไม่เกิด ซึ่ง กิเลส และ นิวรณ์เลย คือ ไม่ได้หวังว่า ฝั่งนั้นต้องเอาอะไรมาให้ ไม่ได้หวังอะไรจากอีกฝั่ง และ ตัวเองไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ เลยจากคำพุดนั้น เช่นนี้ย่อมไม่เกิดบ่วง อกุศล แก่ผู้พูด จะเกิด ก็แค่ บ่วงกุศลเท่านั้น


ซึ่ง สมมติถ้าหากมีลาภสักการะจริง ๆ หากลาภสักการะนั้นมาจาก การที่ผู้นั้น ไปทำแล้วได้ผล จึงนำลาภสักการะมาตอบแทน หากไม่ได้ ก็ไม่มีลาภสักการะ ก็ไม่ถือว่าเป็นอกุศลกรรม เพราะ ผู้พูดไม่ได้มีเจตนาตั้งแต่แรก ที่จะให้เกิดลาภสักการะ


แต่หากเป็นเงื่อนไขที่ต้องนำลาภสักการะมาก่อน หรือ ภายในจิตผู้พูด มีการคาดหวังลาภสักการะกลับมาแต่แรกแม้แต่เพียงนิดเดียว การกระทำนี้จัดเป็น "อกุศลกรรม" แต่ต้นครับ


อนึ่ง ตัวผู้ที่ไปสวดมนต์ภาวนา ตัวเขาได้รับผลประโยชน์จากการสวดมนต์แน่ ๆ คือ การฝึกสติ (หากสวดถูกต้อง คือ สวดแบบมีสติ จิตไหลแล้วรู้ ) และ หากสวดแบบมีการแปล ก็เท่ากับว่า เราได้ สาธยายธรรมให้ตัวเองฟัง ยังความสำนึกให้เกิดในจิตใจ


ทั้งนี้ครูบาอาจารย์ก็มักจะให้เราไปทำบ่วงที่เป็นกุศล โดยหวังว่า สิ่งที่เราทำ สักวันหนึ่งมันจะยังปัญญาของเราให้เกิด แล้ว คลายความยึดมั่นถือมั่นได้เอง ซึ่งอย่างน้อยก็ดีกว่า ไม่ทำอะไรเลย แล้วก็ปล่อยไปตามยถากรรมถูกเร้าแบบไม่มีสติไปเรื่อย ๆ


ตัวอย่างเช่น




เวลาเราไม่สบาย อาจจะด้วยโรคอะไรก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์บอกให้เราไปสวดมนต์ การสวดมนต์นั้นโดยเนื้อแท้ของมันไม่ได้รักษาโรคโดยตรง แต่เป็นการดำรงสติของท่านไว้




คือ พยายามผูกจิตท่านไว้กับบทสวดมนต์ เพื่อลดความทุกข์ จากการที่จิตของท่านไปผูกกับ ความเจ็บปวด หรือ การเสื่อมของร่างกาย จนเกิดเป็น จิตอกุศล ซึ่งหากท่านตายตอนที่จิตเป็นอกุศล ท่านก็จะมี อบายภูมิเป็นที่ไป ส่วนร่างกายของท่านนั้นท่านก็มีหน้าที่ต้องรักษาไปตามสภาพ เหมือนมีบ้านต้องกวาดบ้าน แต่อย่าได้ทุกข์ร้อนหากท่านต้องจากบ้านหลังนี้ไป เพราะมันผุจนซ่อมไม่ได้แล้ว


ทั้งนี้ มันจะไม่เหมือนกับ การบอกว่า "ให้ทำทานเยอะ ๆ เพื่อสั่งสมบุญไว้จะได้ไปสวรรค์ โดย คนพูดนั้น ได้ผลประโยชน์จากลาภสักการะนั้น เช่น มีคนเอาเงินมาให้ เพื่อทำบุญกับตัวเองแล้วจะได้ไปสวรรค์ แบบนี้ ไม่ถือเป็น White lie ครับ เป็นแค่การโกหกหลอกลวงเฉย ๆ ครับ เพราะตัวเองได้รับซึ่งผลประโยชน์ครับ


นี่คือ White lie ครับ แต่อย่างที่บอกครับ เป็นเรื่องที่ยาก และลำบากในการใช้งานมาก ๆ หากผู้ใช้งานไม่มีสติ ไม่จำเป็นก็ไม่อยากแนะนำให้ใช้สักเท่าไร


พอจะเห็นอะไรไหมครับ บางคนชอบบอกว่า โกหก ก็คือ โกหก การโกหกคือ บาป แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่า การโกหกมันบาปตรงไหน พอตั้งคำถาม คิดและวิเคราะห์แยกแยะออกมา (ค.ว.ย.) ก็จะเห็นภาพแบบที่ผมอธิบายไว้ ยังไงก็ลองใช้สติของท่านในการตรึกตรองและพิจารณาดูนะครับ



วิสัชนา:ศึลข้อนี้ จริง ๆ จัดเป็นข้อที่ยากที่สุด ในจำนวนศีลทั้งหมดสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะอย่างที่บอกครับ มันไม่ใช่แค่เรื่องของการโกหก แต่มันรวมไปถึงการสร้างอกุศลในใจผู้อื่นด้วยคำพูดทั้งหมด คำแนะนำของผมมีเพียงอย่างเดียวครับ


หากไม่จำเป็นต้องพูด ก็อย่าพูด แต่หากจำเป็นต้องพูด ก็ให้ "มีสติ กำหนดรู้ทุกครั้งก่อนที่จะพูดอะไรออกไป"


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ


ถ้าหาก ใครเป็นเซลส์ จะรู้ครับว่า คนเป็นเซลส์นั้น ใช้คำพูด น้ำเสียง และ ท่าทาง ในการกระตุ้นโลภะ เพื่อให้เกิดการซื้อ


หรือ ถ้าหากใครเป็น ดารา นักร้อง นักแสดง ตั้งแต่ รูปร่างหน้าตาคุณ ที่ทำให้เกิด โมหะ น้ำเสียงคุณที่ร้องเพลงออกมา ทำให้เกิดโมหะ การแสดงของคุณที่ทำให้เกิดโมหะ การหลงใหล การยึดมั่นถือมั่น


การกระทำเหล่านี้ จริง ๆ แล้วล้วนเป็นการสร้างบ่วงทั้งสิ้น และ ไม่ใช่ "สัมมาอาชีวะ " แต่อย่างใด


ถึงตรงนี้ มั่นใจว่า หลายคนคงร้องหา!!!.....ใช่ครับ คนเรามักคิดแค่ว่า แค่ไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ไปโกงเขาก็เป็น สัมมาอาชีวะแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่ครับ คุณแค่สร้างบ่วง โดยที่ไม่รู้ตัว


ซึ่งถ้าถามว่าผิดอะไรไหม ถ้ายังอยู่ใน โลกียวิสัย คือ ยังต้องอยู่ในโลก มันก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าเรามีเป้าหมาย จะพ้นไปจากโลก เพื่อเข้าสู่ โลกุตร นี่เป็นสิ่งที่เรา ต้องรู้ และหลีกเลี่ยง ละได้ให้ละ หาทางอื่นเลี่ยงได้ให้หาทาง


สำหรับในการขายของนั้น ส่วนใหญ่ คนเราซื้อของด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล การพยายามกระตุ้นคนด้วย โลภะ แและ โมหะ จึงสามารถเข้าใจได้ในการขายของเฉพาะหน้า ดังนั้น การพูด ก็ขอให้เรามีสติรับรู้ว่า คำพูด กริยา ท่าทางเรานั้น ก่อให้เกิด โมหะ และ โลภะในการต้องการซื้อมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดความอยากได้อยากซื้อ หรือ อยากได้ผลประโยชน์มากน้อยเพียงใด


และ สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องรับประกันได้ คือ สิ่งที่เราให้ผู้ซื้อนั้น ต้องตอบความคาดหวังของคนซื้อได้ ไม่เช่นนั้น เงินที่เราได้มาจากลูกค้า มันจะกลายเป็น "เงินที่มีบ่วง" และผลตอบแทนที่เราได้รับทันที คือ โทสะ หรือ ความไม่พอใจของคนซื้อ หรือคือ คำตำหนิ และ การบอกต่อในทางลบ เพื่อระบายโทสะ นั่นเองครับ


ถ้ายังจำกันได้ ผมมีบอกไว้ว่า การพูดความจริง ที่ทำให้เกิดอกุศลในใจผู้อื่น คือ ความชอบ ไม่ชอบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

.

แล้วถ้าหากเราซื้อของมาไม่ดี เราควรบอกต่อคนอื่นไหม?


บางคนก็จะบอกว่า ควรสิ เพราะจะได้ "ป้องกัน" ไม่ให้คนอื่นซื้อของผิดแบบเรา แล้วจริง ๆ เราควรทำยังไง?


ว่ากันตามความจริงครับ เวลาเราซื้อของแล้วได้คุณภาพไม่ได้อย่าที่เราคาดหวัง สิ่งที่เราเกิดอย่างแรก คือ โมหะ และ โทสะ คำถามคือว่า เราจะเลือกตอบสนองยังไง


หากเราเลือกที่จะอภัยให้ แล้วปล่อยบ่วงนั้นไป สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ เราได้เรียนรู้อะไร จากความผิดพลาดของเรา ในการซื้อของไม่ดี


ธรรมชาติคนเราเวลาถูกหลอก เรามักจะเข้าข้างตัวเองเสมอว่า คนที่มาหลอกเรานั้นเป็นคนผิด 80-100% ในขณะที่เราเป็นผู้เสียหายนั้นไม่ผิดเลย


แต่ในความเป็นจริง ตัวเรานั่นแหละที่ผิด 80% คนที่หลอกเราผิดอย่างมากแค่ 20% โดยความผิดใหญ่ของเรา คือ "ผิดที่รู้ไม่มากพอ มีวิธีการจัดการ หรือ ป้องกันการโดนหลอกที่ไม่ดีพอ" จึงโดนหลอก



การคิดแบบนี้ จะช่วยให้ตัวเรามีการคิดและพัฒนา ป้องกันตัวเองต่อไปในอนาคตครับ แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้เสียหาย ตัวเราจะเข้าสู่โหมด "นางเอกโดนตัวร้ายรังแก" ทันที สิ่งที่เราต้องการจะกลายเป็นความต้องการความเห็นอกเห็นใจ การปลอบประโลม และ จะหยุดความคิดในการพัฒนาตัวเองต่อ เพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ไม่ให้เกิดในอนาคตอีกทันที


ดังนั้น หากเราตั้งคำถามว่าเราได้เรียนรู้อะไรแล้ว ก็ขึ้นกับเราจะจัดการกับคนที่มาหลอกเรายังไง หากเราให้อภัยเขา แล้วตัดบ่วง ไม่ไปจองล้างจองผลาญกับเขา เราก็ไม่ต้องไปไล่เล่นงานเขา ไม่ต้องไปไล่บี้เขา และถ้าหาก เรามีจิตกุศล อยากไม่ให้คนอื่นผิดพลาดแบบเรา เราก็แค่เล่าประสบการณ์ที่เราโดนหลอก โดยไม่ต้องระบุชื่อคนที่หลอก ก็เป็นการเพียงพอแล้ว


เพราะเมื่อไรที่เราระบุชื่อ นั่นแสดงว่า เราไม่ให้อภัยแก่เขา และ ต้องการให้เขาได้รับความเดือดร้อนเสียหาย แต่...ในกรณีที่เราเล่าแบบกลาง ๆ ไปแล้ว มีคนถามถึงชื่อ คนหลอก ก็ให้บอกเป็นการส่วนตัวไปครับไม่ต้องออกสื่อสาธารณะ


นี่คือ การกระทำที่ไม่สร้างบ่วงที่สุด


สำหรับศีลข้อ 4 ผมขอจบเนื้อหาไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ และเช่นเคยหาท่านใดมีข้อสงสัยสามารถทิ้งคำถามไว้ด้านล่างได้เช่นเคยครับ

Comments


© 2021 by 19room Proudly created with Wix.com

bottom of page